อาทิตย์นี้ว่าจะไม่เขียนถึงเกมกลยุทธ
เพราะปกติจะวิเคราะห์เกม ก็ว่าจะรออาทิตย์ที่ 2 ของเกมก่อน
แต่เนื่องจากเกมนี้ยากสำหรับบางคนในการมองเกมควบคู่ไปกับความบันเทิง
และเสียงเรียกร้องขอกันมาเยอะ พร้อมคำถามว่าผมเห็นอะไรน่าสนใจบ้างในเกม
ก็เล่าแบบสั้นๆย่อๆนะครับ เพราะรายละเอียดมันเยอะเล่าสั้นๆก็จริงแต่ก็คงจะยาวทีเดียว
อันดับแรก หลายคนบอกเห็นวันแรกวิ่งไปวิ่งมากันที่สยามขายของให้ได้ยอดชนะอีกทีม
ไม่เห็นโชว์กลยุทธอะไรเลย
ข้อนี้ผมว่าที่จริงมันก็มีรายละเอียดนะ อาจจะเพราะอยากให้ลองสังเกตดู
อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การใช้กลยุทธ Barter
เสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยนแบบ win-win ได้ทั้ง 2 ฝ่ายแบบไม่ใช้เงิน
ถ้ามาแบบมือเปล่าแล้วนึกกลยุทธแบบนี้ได้ ก็ถือว่าใช้ได้
นอกจากนั้น 4Ps ก็หลุดออกมาเรื่อยๆ แต่อาจไม่สังเกตกันเพราะมันออกชุลมุน
ที่ชอบ คือ Bundling ซื้อสองชิ้นควบกันในราคาพิเศษ
รวมถึงการขยายช่องทางการขาย อย่างการใช้ Personal Selling ก็อยู่ใน Promotion
กลยุทธพวกนี้
ที่พยายามคิดกันขึ้นมาในระยะเวลาจำกัดบอกอะไรได้บ้าง
สำหรับผม
โดยข้อจำกัดหลายๆข้อ และการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติภาคสนามกระทันหัน
ผมกลับมองในแง่มุมของการทดสอบคุณสมบัติบุคลากรครับ
เกมในวันแรก ชวนนึกเหมือนสมัยที่ผมให้โจทย์กับลูกน้องใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานด้วย
ซึ่งที่ผมมองหลักๆก็คือ ผมอยากรู้ว่าในสถานการณ์ที่เขาไม่ทันตั้งตัว
ด้วยโจทย์และเวลาที่จำกัด เขาจะทำไงกันบ้าง
แน่นอนครับ ผมไม่ได้ดูเรื่องวางแผนกลยุทธอะไรหรอก
ถ้าจงใจตั้งโจทย์ให้เป็นเคสกระทันหัน ไม่ทันตั้งตัว
แบบโจทย์นี้เป็นโจทย์ลวงต่างหากครับ
ดูเผินๆแล้วผู้เล่นต้องใช้กลยุทธเอาชนะกัน
แต่ที่จริงแล้วทุกคนที่เจอสถานการณ์แบบนี้
ในเวลาจำกัดที่ไม่ได้ให้ตั้งตัว
ไม่ได้ให้คิดล่วงหน้า
ไม่ได้ให้วางแผนไว้ก่อน
สิ่งที่ลูกน้องจะหลุดมาให้ผมเห็น
คือ สัญชาติญาณการตลาดและคุณสมบัติส่วนตัวที่เขาสั่งสมมาต่างหาก
ถามว่าผมจะได้อะไร
ได้ดูคุณสมบัติของนักการตลาดของเด็กใหม่ไงครับ
ใจสู้ หัวไว กลิ้ง ลูกล่อลูกชน
พวกนี้เขาต้องขับออกมาหมด
ด้วยโจทย์ที่บังคับให้มีชนะแพ้
และเปรียบเทียบยอดทำกำไรสูงสุด
ถามว่าในสถานการ์ณที่ผ่านมาของวันแรก
ถ้าคุณลองมองแบบผม
คุณจะเห็นอะไรจากผู้เล่นแต่ละคน
สำหรับผม
และสำหรับผู้บริหารโดยปกติ
เรื่องนี้จำเป็นนะครับ
ถ้าคุณไม่รู้จักคุณสมบัติของลูกน้องคุณ
ไม่รู้จักนิสัย
ไม่รู้จักธรรมชาติของเขา
คุณจะใช้เขาอย่างไร
คุณคิดจะมอบโปรเจคแบบไหนให้เขาไปทำ
คุณจะกล้าให้งบเขาไปลองใช้หรือเปล่า
ในเมื่อมีงบประมาณขึ้นมา นั่นคือความเสี่ยงของกำไร ขาดทุน
และคุณจะให้ใครรับผิดชอบ ก็ควรต้องเห็นงานภาคปฏิบัติเสียก่อน
จริงไหมครับ
โจทย์ของวันแรกเรียบง่ายแบบนี้แหละ คนมักมองข้าม
แต่ผมว่านี่แหละพื้นฐานสำคัญในการอ่านคน อ่านลูกน้อง ในภาคปฏิบัติ
นอกจากนั้นโจทย์กระทันหันแบบนี้
เวลาให้ทำเป็นทีมมันสะท้อนอะไรได้เยอะครับ
โดยเฉพาะนิสัยในการประสานงานกัน
มันจะสะท้อนออกมาเลยว่า
ใครเข้ากันได้ เข้าขา และไม่เข้าขา
ถามว่าพวกนี้จำเป็นที่ผมต้องรู้ไหม
ผมว่ามันจำเป็นนะถ้าเราจะต้องใช้คน
และสำหรับกรรมการเองก็คงได้ข้อมูลภาคสนามของแต่ละคนมากขึ้น
หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาแล้ว ก็ควรมีบททดสอบกันมั่งแหละครับ
จะได้กำหนดโจทย์ต่อๆไปได้มันมือหน่อย
และถ้าไกด์แบบนี้ก็หวังว่าจะมีรายละเอียดมุมมองให้ติดตามได้สนุกขึ้น
หวังใจว่าจะดูได้สนุก และได้ประโยชน์ครับ
อันดับสองที่ผมชอบ คือตอนท้าย
อันนี้มองในแง่กลยุทธ ไม่ใช่ในสายการตลาดนะครับ
แต่จัดว่าเป็นเกมกลยุทธที่สื่อว่านอกจากการเล่นตามโจทย์แล้ว
ผู้เล่นเองก็ยังต้องคิดเผื่อเกมในแง่มุมอื่นๆด้วย
จำได้ไหมครับในตอนท้าย โจทย์กรรมการให้คือให้แต่ละคนไปคัดเลือกคนในทีมออก
แล้วปรากฏว่าทุกๆคนต่างเลือกที่จะเสนอชื่อตัวเอง
ในเชิงจิตวิทยาข้อนี้หวาดเสียวมาก เพราะต้องวัดใจผู้เล่นทุกคน
ถ้ามีใครแตกแถว วงแตกแล้ว
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นแน่นอน (เชื่อไหมครับ)
และจิตวิทยาข้อนี้เป็นไปตามทฤษฏี Prisoner’s Dilemma ของ จอห์น แนช อย่างน่าสนใจครับ
***Prisoner’s Dilemma เป็น ตัวอย่างคลาสสิกของทฤษฎีเกมคือ “ทางเลือกของนักโทษ” (Prisoner’s Dilemma)
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีโจรอยู่ 2 คนที่ทำความผิดร่วมกัน เมื่อถูกจับได้ โจรแต่ละคนมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ สารภาพความผิดตามจริง กับปฏิเสธข้อกล่าวหา
ซึ่งหากนักโทษทั้งสองคนปากแข็ง และไม่ทรยศต่อกัน ปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งคู่ โจรทั้งสองก็จะถูกจำคุกเพียง 1 เดือน ในฐานะผู้บุกรุก (D)
ซึ่งเป็นโทษเบา และเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ต่างคนต่างจะต้องระแวงว่า อีกคนหนึ่งจะยอมสารภาพกับตำรวจและทรยศกับตนหรือไม่
เช่น กรณีที่โจร ก.ยอมสารภาพ และโจร ข.ไม่สารภาพ โจร ก.ก็จะติดคุกเพียง 2 ปี แต่โจร ข.จะโดนโทษหนักคือติดคุก 10 ปี (B)
ในทำนองเดียวกัน หากโจร ข.สารภาพ แต่โจร ก.ปากแข็ง ผลก็คือ โจร ข. ติดคุก 2 ปี แต่ โจร ก.ก็จะได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปี (C)
แต่ถ้าสารภาพทั้งคู่ สารภาพได้ ทั้งคู่ก็จะได้รับโทษจำคุกไปคนละ 5 ปี (A)
กล่าวโดยสรุป คือ ถ้าการสอบสวนแยกกันโดยเด็ดขาด
มักจะทำให้ตำรวจสามารถกดดันให้โจรทั้งสองคนสารภาพได้ และต้องจำคุกไปคนละ 5 ปี (A)
ทั้งๆ ที่หากโจรทั้งสองยึดมั่นที่จะร่วมมือกันแล้ว จะไม่สามารถตั้งข้อหาได้ และโดนข้อหาเล็กน้อยไปแทน
แต่ขณะเดียวกัน ถ้าโจรทั้งสอง มีโอกาสได้ทำข้อตกลงกันก่อนการสอบสวน และเชื่อใจกัน
ก็จะสามารถเลือกไม่สารภาพทั้งคู่ได้ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์ของผลลัพธ์สูงสุดได้ง่ายขึ้น
Game Theory คลาสสิกนี้ ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกของผู้เล่นที่นำไปสู่จุดสมดุลในเกม ดุลภาพของแนช(Nash Equilibrium) ดุลยภาพในทฤษฏีเกมของแนชจะทำให้ผู้ร่วมในเกมจะรักษาดุลยภาพของตนให้สูญเสียน้อยที่สุด
ลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในเกมที่เราเห็นวันแรก รู้สึกว่ามีอะไรที่ใกล้เคียงกันไหมครับ
นี่แหละครับอาหารสมองที่อยากให้สังเกตเห็น
สุดท้ายนี้ ขอให้ดูสนุกกันนะครับ
ว่างๆเข้าไปแจมกันที่บอร์ดของเกมกลยุทธแล้วกันครับ ถือโอกาสประชาสัมพันธ์แล้วกัน
เพราะเห็นหลายคนบ่นว่าเข้ายากนักกว่าจะหาเจอ
http://www.gamekonlayut.com/main.php?menu=board
ปล.2
แอบประทับใจคำพูด คุณเก๋ เมทินีครับ
“คุณคิดว่าทางเราจะไม่กล้าตัดสินใจเอาคุณออกเพราะว่าทุกคนโหวตตัวเองออกใช่ไม๊คะ”
แล้วก็ประทับใจตอนประธานกรรมการ อ.สุมาส สรุปหักมุมตอนท้าย
เห็นประกายตาแกแว่บนึง(ไม่รู้ใครสังเกตเห็นบ้าง)แล้วบอกตัวเองในใจว่า วันถัดไปสนุกแน่ครับ