ปีนี้ลูกชายคนโตได้เข้าเรียนอมาตยกุลครับ เทียวไปเทียวมาจับฉลากถึง 2 ปี ทีเดียว
พอได้แล้วโล่ง เพราะแนวทางสอดคล้องกับความคิดเรา แต่ไม่ง่ายเลยที่จะได้เรียนเพราะที่นี่ใช้วิธีจับฉลากเอา
พูดง่ายๆว่าวัดคนดวงดีตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ไม่มีแป๊เจ๊ยะ ไม่มีใต้โต๊ะ ดวงล้วนๆครับ

เป็นหนึ่งในโรงเรียนทางเลือกที่อยากแนะนำ ถ้ามองถึงคุณภาพชีวิตของลูกเราที่จะเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์
โดยไม่หลงทุ่มเทไปในด้านวิชาการอย่างเดียวครับ เด็กที่มีวุฒิภาวะและความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่เล็กสำหรับผมสำคัญกว่าเรียนเก่งเสียอีก
อาจเพราะว่าเรามีงาน มีอาชีพรองรับให้ลูกเรามากพออยู่แล้ว

การศึกษาแบบนีโอฮิวแมนนิส
Neo-Humanist Education

ความ เป็นมา
จุดเริ่มของแนวคิดนี้มาจากโยคีชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ พี.อาร์.ซาร์การ์ (P.R.Sarkar)
ที่นำศาสตร์ทางตะวันออกกับความทันสมัยแบบตะวันตกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

เช่น มีการให้เด็กๆฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ๆรวมเข้าไปด้วย โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในเด็กเล็กว่า
“กิ่งไผ่อ่อนสามารถจะถูกดัดหรือปรับให้อยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ส่วนกิ่งไผ่แก่จะต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด ในการดัดหรือปรับให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งก็อาจหักหรือเสียหายโดยง่าย นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราควรให้ความสนใจการศึกษาระดับอนุบาลยิ่งกว่าการศึกษา ระดับใดๆทั้งสิ้น”

หลักการ
สิ่งแวดล้อมและการศึกษาในวัยต้นๆของ ชีวิต มีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งต่อความเฉลียวฉลาด คุณธรรมและความสุขของคนเรา
โดย เชื่อว่าความเก่ง ความฉลาด ซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ แต่มนุษย์ดีงศักยภาพดังกล่าวออกมาใช้แค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และเชื่อว่าความเป็นคนที่สมบูรณ์นั้นเกิดจากศักยภาพที่สำคัญ 4 ด้านคือ

1. ร่างกาย (PHYSICAL) จะต้องแข็งแรง
2. จิตใจ (MENTAL) ถ้ารูปร่างดีแข็งแรง แต่จิตใจไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่มีประโยชน์
3. ความมีน้ำใจ (SPIRITUAL) มีความรักให้กับคนอื่นในวงกว้าง ช่วยเหลือคนอื่นโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน มีความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ มีใจที่เปิดกว้าง
4. วิชาการ (ACADEMIC) ถ้าเราไม่มีวิชาการ ไม่มีความรู้ก็ไม่มีทางที่เราจะมีอะไรมาบำรุงตัวเอง

ทั้ง 4 ด้านคือหลักการสู่ความเป็นคนที่สมบูรณ์ การศึกษาที่ดีจะต้องจัดให้ครบทั้งหมดนี้
กระบวนการ

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายความเป็นคนที่สมบูรณ์ กิจกรรมที่ทำในโรงเรียนนีโอฮิวแมนนิสจะต้องสอดคล้องกับหลัก 4 ข้อ คือ คลื่นสมองต่ำ การประสานของเซลล์สมอง ภาพพจน์ต่อตัวเอง และการให้ความรัก ซึ่งต้องไปด้วยกัน เด็กจึงจะไปในทิศทางที่ดี

1. คลื่นสมองต่ำ
นักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดคลื่นสมอง ซึ่งสามารถตรวจพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของคนเราจะแปรเปลี่ยนไปตามคลื่นสมอง ที่เราส่ง ยิ่งต่ำลงมากเท่าไรจะยิ่งมีประสิทธิภาพดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะมีความสงบทางจิตใจ อารมณ์ดี ใจเย็น มีความคิดสร้างสรรค์สูง เกิดสมาธิ จิตใจเป็นหนึ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก

กิจกรรมจึงต้องสร้างให้เด็กเกิดภาวะคลื่นสมองต่ำมากที่สุด เช่น ก่อนเข้าห้องเรียน เด็กๆได้ฝึกทำโยคะ นั่งสมาธิ อันถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาเรียนหนังสือได้อย่างสบายใจ และมีความสุขในการรับรู้

โยคะและสมาธิ จะช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทผ่อนคลาย
ขณะเด็กทำโยคะ จิตใจเขาจะเป็นหนึ่งเดียว เรื่องอะไรที่วุ่นวายจะค่อยสงบลงๆ การเล่านิทาน การกอด เสียงเพลง และท่าที คำพูดจากคนรอบข้าง ก็มีส่วนทำให้คลื่นสมองต่ำได้เช่นเดียวกัน ถ้าเด็กอยู่ใกล้คนคลื่นสมองต่ำ เขาก็จะต่ำด้วย แต่ถ้าใกล้คนที่คลื่นสมองสูง อารมณ์เขาก็พลอยรุนแรงสูงตามไปด้วย ดังนั้น บทบาทของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ ครูต้องอารมณ์เย็น ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ พูดให้กำลังใจ และไม่พูดในแง่ลบ

อาหารการกินก็มีส่วนต่อคลื่นสมองของคนเราด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นอาหารธรรมชาติมากเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลดีมากเท่านั้น อาหารที่โรงเรียนจึงเป็นแบบกึ่งมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น หมู เนื้อ แต่กินเนื้อสัตว์เล็กตั้งแต่ไก่ลงมา เน้นผ้ก ผลไม้ นม และดื่มน้ำมากๆ

2.การประสานของเซลล์สมอง
เราเคยเชื่อว่าความฉลาดมาจากพันธุกรรม พ่อเก่ง แม่เก่ง ลูกจะออกมาเก่ง
แต่นีโอฮิวแมนนิสมีความเห็นต่างออกไปจากนั้น โดยเชื่อว่าความฉลาดสามารถฝึกฝนกันได้ ไม่ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ แต่ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ว่าได้มีส่วนช่วยทำให้เซลล์สมองประสานกันมากน้อยแค่ไหน

การที่คนไหนจะฉลาดหรือไม่ฉลาด เกิดจากเซลล์สมองประสานเข้าด้วยกันหรือที่เรียกว่าเซลล์ประสานประสาท ถ้าใครมีมากๆคนนั้นจะฉลาด เรียนรู้เรื่องต่างๆได้เร็ว อย่างเรามีเพื่อน ทำไมบางคนอ่านหนังสือสิบนาที จำได้หมด แล้วเรากลับจำไม่ได้

มีการค้นพบว่าเซลล์ประสานประสาทจะขยายตัวได้ดี เมื่อมือกับเท้าของเราทำงานมาก เพราะปลายประสาทจะอยู่ตรงส่วนนี้มาก ฉะนั้นในแนวคิดนี้จึงให้เด็กเรียนๆเล่นๆ เรียนก็จริงแต่ต้องได้เคลื่อนไหวด้วย ดังนั้นกิจกรรมจึงมุ่งให้เด็กได้ออกนอกห้อง ได้ปีนป่าย ได้วิ่งเล่น เพื่อให้มือกับเท้าทำงานมากที่สุด

นีโอฮิวแมนนิสจะไม่เชื่อเรื่องให้เด็กเรียนอย่างเดียว หรือเล่นอย่างเดียว เพราะในช่วง 3-6 ปี จะเป็นช่วงที่สมองของคนเราเจริญเติบโตมากที่สุด ถ้าไม่ให้เรียนเสียเลย แล้วมาเรียนตอน 7-8 ขวบจะยิ่งช้าไป ดังนั้นจึงต้องเรียนบ้างโดยกระจายให้เหมาะสม และใช้วิธีการที่จูงใจให้เด็กเรียนรู้ด้วยคลื่นอัลฟาหรือคลื่นสมองต่ำมากที่สุด

ส่วนวิธีการสอนแม้เป็นนามธรรม แต่ก็มีวิธีจูงใจอย่างมีระบบจากรูปธรรมง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมยากๆ แล้วจึงค่อยไปสู่นามธรรมโดยที่เด็กแทบจะไม่รู้ตัวเลย

เช่น แทนที่เด็กจะต้องท่องตัวอักษรต่างๆ เขาก็จะรู้จักเจ้าตัวพวกนี้ผ่านเกม โดยวิ่งไปตามพื้นห้องให้เป็นรูปตัวอักษร ทำตัวเองให้เป็นรูปนั้น หรือเล่นเกมบัตรคำสนุกๆ และแทนที่จะต้องหลับหูหลับตาท่องตัวเลขมากมายอย่างไร้ความหมาย พวกเขาก็จะได้เรียนรู้การใช้จากของจริงเช่น นับตัวเลขจากลูกปัดหอยหรือผลไม้ ถ้าหากจะเรียนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ครูก็จะพาพวกเขาไปสัมผัสกับประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน อาจพาไปดูปลาในบ่อ พาไปรู้จักสัญญาณไฟจราจรริมถนน เป็นต้น

3. ภาพพจน์ของตัวเอง (SELF CONCEPT)
ความรู้สึกที่คนเรามีต่อตัวเรา ตามหลักจิตวิทยาสมัยใหม่พบว่าความรู้สึกที่มีต่อตัวเราจะส่งผลไปถึงความ รู้สึกที่เรามีต่อคนอื่นด้วย ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง เราก็จะไม่เชื่อมั่นคนอื่น

ความรู้สึกที่มาจากตัวเรามันมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้าที่เป็นตัวบันทึก โดยเฉพาะทางตากับทางหูเป็นเรื่องของจิตใต้สำนีก ซึ่งวัยเด็กเป็นวัยที่รับรู้สูงที่สุด ถ้าจิตใต้สำนึกบันทึกไว้แต่เรื่องด้านลบ ได้ยินคนรอบข้างพูดเรื่อยๆว่าไม่เก่ง ซน เด็กเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เก่ง ซน ซุ่มซ่าม เมื่อภาพพจน์ที่มีต่อตัวเองเป็นลบ พฤติกรรมที่ออกมาก็จะเป็นลบด้วย

ดังนั้นบทบาทของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ (กรณีเดียวกับเรื่องคลื่นสมองต่ำ) เชื่อว่าพฤติกรรมของครูคือบทเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก เช่น ถ้าครูไม่กินผัก เด็กก็จะไม่กินผัก ถ้าครูพูดจาไพเราะ เด็กก็จะพูดจาไพเราะ แนวคิดนี้ไม่เชื่อว่าทำอย่างที่ครูสอน แต่อย่าทำอย่างที่ครูทำ

ดังนั้นคนที่เป็นครูที่ดีจึงต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งพฤติกรรมส่วนตัวและเทคนิค การสอนด้วย เด็กจึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

4.การให้ความรัก เปรียบเสมือนกับแก้วน้ำ

ถ้าความรักของเด็กคนนั้นเต็ม มันย่อมไหลเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่น ตรงกันข้าม ถ้าความรักของเขามีเพียงค่อนแก้ว เขาย่อมเรียกร้องต้องการการแสดงออกซึ่งความรักแก่เด็กที่จะทำให้เขาได้รับ ความรักล้นเต็ม

วิธีที่จะได้ความรัก

1. รอยยิ้ม ตามหลักจิตวิทยา การยิ้มคือการยอมรับในความเป็นมนุษย์

2. คำชม การนำเอาข้อดีมาพูด

3. การสัมผัส ในเด็กวัย 3-6 ขวบต้องการสิ่งนี้มาก
นักจิตวิทยาบอกว่า คนเราต้องการการสัมผัสอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง
เพื่อการมีชีวิตรอด 8 ครั้งเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างปกติ
และ 14 ครั้งเพื่อการมีชีวิตอย่างมีความสุข

ถ้าไม่ได้รับเลยเขาจะอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด ดังนั้นในโรงเรียนนีโอฮิวแมนนิส ครูจึงกอดเด็กหลังเช็กชื่อในตอนเช้าเสมอ

โดย รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

<