main_banner1

ถ้าว่าตามตรงแล้วเราก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันไปหลายรอบแล้วครับ ตั้งแต่สมัยอ่าน นสพ. เพิ่มมาฟังวิทยุ ดูทีวีขาวดำ ดูทีวีสี ดูทีวีเคเบิล ดูทีวีดาวเทียม และจากโทรศัพท์ตามสาย มาเพจเจอร์ มือถือเครื่องโต มือถือกระติกน้ำ มือถือขาวดำ มือถือสี และมือถือมัลติมีเดียที่ใช้งานได้สารพัดมากกว่าแค่ใช้โทรศัพท์

telephone-pagerการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสิ่งประดิษฐ์ถูกนำเสนออกมาเรื่อยๆ และหลายครั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมจนจำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้ และคนรุ่นใหม่นึกภาพไม่ออกเลยเช่น ยุคของฟิลม์ที่โกดักและฟูจิเป็นผู้ครองตลาดอย่างยาวนาน เปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าของยุคฟิลม์ถ่ายรูปเฟื่อง เหลือการใช้งานในขอบเขตที่จำกัด ยุคของเพจเจอร์ที่มาไล่ๆกับมือถือ แต่ปัจจุบันไม่เหลือเสี้ยวของความทรงจำสำหรับเด็กรุ่นใหม่

องค์การโทรศัพท์และ กสท.ที่เคยคุมการสื่อสารตามสายมูลค่ามหาศาลในยุคก่อน บัดนี้การตลาดเปลี่ยนมือไปสู่มือถือ และ IP phone รวมถึงการสื่อสารผ่านอินเตอร์เนต และบริการโทรเลขก็ถึงคราวต้องยกเลิก เมื่อนวัตกรรมทำให้การสื่อสารและพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนไป เมื่อนวัตกรรมนั้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า โโยเฉพาะเมื่อนวัตกรรมนั้นเข้าถึงชีวิตประจำวัน เช่น มือถือ ที่ตลาดโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นของจำเป็นอีกชิ้นที่แทบทุกคนต้องมี เกิดพฤติกรรมส่ง sms ไปจน MMs เกิดการดาวน์โหลดเพลง ภาพ รับข่าวสาร และก่อเกิด content provider ที่มูลค่าตลาดมหาศาลในการตอบสนองความต้องการผู้บริโภค

นวัตกรรมแม้กระทั่งตัวมือถือเองก็เกิดนวัตกรรมใหม่อีกระลอก การออกแบบใหม่ๆเขี่ยรูปแบบเก่าๆของมือถือยุคเดิมตกกระป๋องไปทีละน้อย อย่างเช่น iphone สั่นสะเทือนแนวทางการใช้โทรศัพท์ และไลฟสไตล์ของผู้ใช้  ตัว BlackBerry ก็สร้างพฤติกรรมและค่านิยมใหม่ให้ผู้บริโภคสำเร็จ รวมถึงคลื่นอีกระลอกจากการออกแบบแพลทฟอร์ม Android ของ Google ที่สามารถดึงศักยภาพของกูเกิลที่เคยทำมารองรับการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ และเป็นที่จับตาของนักพัฒนา เพราะเปิดช่องทางการใช้งานและศักยภาพที่ไม่เคยทำให้มาก่อนอีกระดับให้กับมือถือให้สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกับคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กที่แสนสะดวก (ที่จริงปัจจุบันมือถือก็ใกล้เคียงเข้าไปทุกที)

นี่ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างพฤติกรรมใหม่ๆอีกรอบของ Ipad นะครับ

ณ วันนี้ นวัตกรรมของการสื่อสารที่ผนวกความสามารถและศักยภาพของโลกไซเบอร์กำลังเป็นปลายทางที่ทุกสายต้องเดินไปหา ไม่ว่าทีวี เพลง และ content ต่างๆ ในโลกไซเบอร์ นอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว มือถือรุ่นใหม่ๆ และอุปกรณ์ในอนาคตอีกหลายชิ้นก็จะเกิดขึ้น รวมถึง internet TV ที่รองรับการใช้งานมากขึ้นมากกว่าทีวีในยุคเดิม

จะเกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วง 1-5 ปี นี้ที่สั่นสะเทือน และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับสารอันแตกต่างไปจากเดิม
สำหรับคนที่อยู่ในโลกการตลาดที่มีประสบการณ์น่าจะมองออกนะครับ ส่วนคนที่มองไม่ออกก็คงต้องเตรียมใจรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และแน่นอนว่าคนที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้และมีศักยภาพก็จะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสื่อยุคใหม่

ยิ่งนวัตกรรมเหล่าทำให้ผู้บริโภคสนุก และมีทางเลือกมากขึ้นเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการรับสารแบบเดิมๆก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ และเป็นการบ้านที่นักการตลาดต้องขบคิดให้ทันท่วงที ว่าทำอะไรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่าต่อการลงทุนครับ