เอาตามเท่าที่ทราบนะครับ พยายามยึดตามที่มีข้อมูลอ้างอิงเป็นหลักไว้ก่อน
หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยเรื่องแรกคือเรื่องอะไร สำนักพิมพ์อะไร ในปีไหน
ตอบข้อนี้ต้องแบ่งเป็น 2 แบบ
1 แบบแรก ก๊อปมือ (ลอกลายเส้นกระดาษไข พิมพ์บล็อค)
เป็นช่วงบุกเบิกตั้งแต่ปี 2510-2514 ก่อนเข้ายุคทองของรุ่นใหญ่รุ่นแรก
จุดเริ่มต้นเท่าที่ผมทราบและอยากให้คอการ์ตูนรุ่นหลังรู้ก็คือ
ในปี 2508 เป็นจุดเริ่มต้นของ เจ้าของนามปากกานักเขียนท่านหนึ่ง
ที่ผมอยากเผยแพร่ให้รุ่นใหม่ๆทราบว่าเขาคือ ตำนานหน้าหนึ่งของเมืองไทย นั่นคือ คุณไพบูลย์ วงศ์ศรี
คนคนๆนี้แหละที่เปิดศักราชการพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นในบ้านเรา
แต่กว่าที่จะเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ ก็ในปี 2509 และออกผลงานชิ้นแรกในปี 2510
ช่วงเวลานั้น ก็คงจะเป็น พิริยะสาส์น โดยพี่ตะวัน กับพี่ทวีพัฒน์ และการ์ตูนเด็ก โดยคุณไพบูลย์ ตั้งแต่ช่วงปี 2510 ที่เล่า เป็นคนนำเทคนิคก๊อปมือ(ภาษาผมเอง)มาใช้ (เขียนลอกลายบนกระดาษไข) เรื่องที่แปลมาบางทีมีต่างจากต้นฉบับเหมือนกัน เลยไม่รู้จะนับดีไหม แต่มันก็เป็นประวัติศาสตร์หน้านึงที่ควรจะรู้ รายละเอียดเรื่องนี้
ใครสนใจตามไปค้นได้ที่เว็บกาโม่แมนครับ พี่ๆที่นี่ใจดีทุกคนและไม่หวงความรู้ครับ
ที่จริงจุดเริ่มกระแสหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทย เกิดขึ้นเพราะช่วงนั้นก็มีการสั่งหนังการ์ตูนมาฉายที่ช่อง 4 บางขุนพรหม และช่อง 7
ในปี 2508 ราวเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม มีหนังการ์ตูนญี่ปุ่นมาฉายแข่งกัน
ทั้ง 2 ช่อง ระหว่างช่อง 4 บางขุนพรหม และช่อง 7 คือ เจ้าหนูลมกรดฟูจิมารู และ เจ้าหนูปรมาณู ซึ่งเฉือนกันไม่กี่อาทิตย์
ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงว่าเรื่องไหนกันแน่ที่เป็นเรื่องแรก เพราะตามหลักฐานเอกสารบ่งไปทางเจ้าหนูลมกรดมากกว่า
แต่ขณะเดียวกันข่าวว่าเจ้าหนูลมกรดเจอโรคเลื่อนเนื่องจากชื่อเรื่องตอนนั้นไม่ลงตัว และเจ้าหนูปรมาณูออกมาฉายก่อน
ดังนั้นที่ ยืนยันได้มีแต่ความทรงจำเท่านั้นเองของรุ่นใหญ่หลายๆท่าน ที่ก้ำกึ่งระหว่าง 2 เรื่องนี้ ซึ่งถ้าหาข้อมูลอ้างอิงได้เพิ่มจะมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ
แน่นอนการนำการ์ตูนมาฉายทางทีวี ย่อมก่อให้เกิดกระแสการรู้จักการ์ตูนอย่างแพร่หลาย
สนพ.ไทยดั้งเดิมของเราก็เริ่มให้ความสนใจ
ที่จะลองเปิดตลาดด้านนี้ขึ้นมา อย่างที่เล่า
2 แบบที่สองกอปพิมพ์ (กอปแปลว่าไม่ถูกลิขสิทธิ์)
ช่วงนี้เป็นยุคที่ 2 ของการพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นขายครับ เป็นยุคทองของรุ่นผมที่โตขึ้นมาในยุคนี้ หลังจากเอาหนังสือของรุ่นพี่มาอ่านในตอนเด็กๆ
ข้อมูลที่เคยมีในมือ เดิมมี 2 เรื่อง (เก่าสุดในมือ) เป็นของสนพ.ยอดธิดาทั้งสองเรื่อง คือ กุหลาบแวร์ซาย (จำปีไม่ได้) กับ คำสาปฟาโรห์ ปลายปี 2519
อีกข้อมูลนึง เป็นของจัมโบ้ ปี 2515 ไม่ยืนยัน มีคนว่าเคยเห็น แต่ไม่ยืนยันเพราะยังหาหลักฐานไม่ได้ครับ
แต่ที่แน่ๆ เคยมีหนังสือการ์ตูนแบบรวมเรื่องชื่อ แฮปปี้ฮิท กับ ท๊อปการ์ตูนส์ ประมาณปี 2514 ด้วยล่ะ (อาจมีเก่ากว่านั้น แต่เกิดไม่ทัน)
แต่ผ่านยุคนั้นมาแล้ว หาหนังสือมาเป็นหลักฐานไม่ได้อีกเหมือนกัน
3 การ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยเรื่องแรกที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ และเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มแรกของไทย
ในยุคนี้มีการ์ตูนญี่ปุ่นที่ถูกลิขสิทธิ์แล้วนะครับ จากการติดตามหาข้อมูลอย่างยาวนานและอุปการระคุณจากรุ่นใหญ่ที่อยู่ในยุคนั้นจริงๆ (พี่วัชรพันธุ์ ลวันยานนท์ หรือ wideshot) จึงสามารถยืนยันข้อมูลได้ว่า การ์ตูนญี่ปุ่นเล่มแรกที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องพิมพ์ในปี 2511 เป็นการ์ตูนของ อ.โอซามุ เทตสึกะ (สุดยอดเลย..)
การ์ตูนเล่มนี้พิมพ์โดยใช้หัว TOP BOY สนพ.ประชาชน
และการ์ตูนลิขสิทธิ์ จากญี่ปุ่น เล่มแรกในประเทศไทย
ที่วางตลาด ในปี 2511 นั้นก็คือ สิงห์น้อยเจ้าป่า เล่ม 1
4 การ์ตูน ตปท.แปลไทย ลิขสิทธิ์ถูกต้องเล่มแรกของไทย คือเรื่องอะไร
ก่อนหน้านี้ก็มีการ์ตูนที่ตีพิมพ์ในไทยครั้งแรกอีกเรื่องที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ก็คือ เรื่อง โดนัลดั๊ก ของวอล ดิสนีย์ ลิขสิทธิ์แท้ที่ตีพิมพ์ในปี 2508
5. หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแบบพอกเก็ตบุ๊คแปลไทยแบบมีลิขสิทธิ์เรื่องแรก คือ เรื่องอะไร สำนักพิมพ์อะไร ในปีไหน
ถ้าพูดตามตรง ในยุคนั้นแต่ละที่ก็โฆษณาว่าเจ้าแรกทั้งนั้นนะครับ ..555
พูดแล้วก็ปาดเหงื่อเพราะหาหลักฐานที่ชัดเจนยากนัก
ยุคพอกเก็ตบุ๊คที่เป็นลิขสิทธิ์อย่างจริงจังถ้วนหน้า
ถ้านับที่ผมจำได้จริงๆ ตอนนั้นเป็นยุคหลังการล่มสลายของ Zero และ Talent โดย สนพ.อะไรสักอย่าง
ชื่อแอดวานอินโฟ เอ๊ย แอดว๊านคอมมูนิเคชั่น มั้ง มาอ้างๆเรื่องลิขสิทธ์ แล้วก็เลยหยุดๆกันไปหมดช่วงนึง
(เป็นยุคสูญญากาศที่ว่างเปล่า ที่ทำให้ผมข้ามไปยืมการ์ตูนผู้หญิงจากเพื่อนมาอ่าน เพราะไม่มีอะไรจะอ่าน)
แล้วก็เข้ายุคลิขสิทธ์ (ถ้วนหน้า) คือ ยุค BOOm ก่อกำเนิด และเรื่องแรกที่ถูกคว้าไปโดย NED คือ ดรากอนบอล (จำเพราะดรากอนบอล..555)ถ้านับไม่ใช่รวมเล่มแต่เป็นรายสัปดาห์ คือ Boom ทำให้เด็กๆและคอดราก้อนบอลต้องแห่ตามๆกันไปซื้อบูมครับ
ต่อจากนั้นค่ายอื่นก็แห่ตั้งหลักตามๆกันมา รวมทั้งเจ้าเก่าในตลาดที่กลับมาตั้งหลักเรื่องลิขสิทธิ์เต็มตัว
ที่จริงการ์ตูนญี่ปุ่นแบบพอกเกตบุ๊ค คงต้องใช้เวลาทำการบ้านพอสมควรครับ เพราะไม่ใช่ทุกสนพ.ที่ผมติดตามอ่าน(ตังค์ไม่พอน่ะ)
ความจำอาจคลาดเคลื่อนได้ครับ
ถ้านับการ์ตูนพอกเกตบุคเรื่องแรก ของวิบูลย์กิจ
เรื่องถูกลิขสิทธ์เรื่องแรก คือ จิ๋วพลังอึด ของ อ.มิยะ ทาเคชิ (ไม่ดังแต่ก็สนุกนะเรื่องนี้) พิมพ์ปี 1992 มี 8 เล่มจบ
พระเอกเป็นนักวิ่งมาราธอน ตัวเล็กนิดเดียว แต่สู้ไม่ถอยๆ ให้พลังใจและซึ้ง
ข้อควรระวังอย่าเผลอไปวิ่งตามล่ะ….555
อันนี้นับตามยุคปัจจุบันที่ชัดเจน มีหลักฐานครบ
5.1 การ์ตูนญี่ปุ่นพอกเก็ตบุ๊คของผู้ชายเรื่องแรกที่ถูกลิขสิทธิ์
5.2. การ์ตูนญี่ปุ่นพอกเก็ตบุ๊คของผู้หญิงเรื่องแรกที่ถูกลิขสิทธิ์
ย้อนรอยกลับไปอีกในช่วงยุคทอง กลับพบว่ามี สนพ.ที่เคยลงลิขสิทธิ์พร้อมสัญลักษณ์ถูกต้องในช่วงราวๆปี 2526 ตามข้อมูลอ้างอิงที่มีหลงเหลือหลักฐาน ก็คือ เรื่อง 7 สิงห์ประจัญบาน และคำสาปฟาโรห์ (แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการหาข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมอีกหน่อย)
หรือจะบอกว่าการ์ตูนการ์ตูนญี่ปุ่นพอกเก็ตบุ๊คของผู้ชายเรื่องแรกที่ถูกลิขสิทธิ์ เท่าที่มีข้อมูลอ้างอิงในตอนนี้ก็คือ ก็คือเรื่อง 7 สิงห์ประจัญบาน
การ์ตูนญี่ปุ่นพอกเก็ตบุ๊คของผู้หญิงเรื่องแรกที่ถูกลิขสิทธิ์ เท่าที่มีข้อมูลอ้างอิงในตอนนี้ก็คือ ก็คือเรื่อง คำสาปฟาโรห์
ทั้งสองเรื่องเป็นของ สนพ.ยอดธิดา ปีที่ระบุในการตีพิมพ์ก็คือ ปี 2526
(แน่นอนว่าทั้งหมดนี้อิงตามข้อมูลที่ค้นพบ และอาจมีข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต)
6. การ์ตูนญี่ปุ่นพอกเก็ตบุ๊คเรื่องแรกชองไทยที่ถูกลิขสิทธิ์
จากข้อมูลเท่าที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ต้องตอบว่า เรื่อง 7 สิงห์ประจัญบาน คู่มากับคำสาปฟาโรห์ ซึ่งเฉือนอีกเรื่องกันเพียงนิดเดียวเท่านั้นเองครับ 🙂
7. หนังสือการ์ตูนแบบพอคเกตบุ๊คญี่ปุ่นแปลไทยแบบมีลิขสิทธิ์ที่ใช้วิธีการอ่านแบบญี่ปุ่นคือเรื่องอะไร สำนักพิมพ์อะไร ในปีไหน
เรื่อง รัช Rash (หมอสาวจอมดีเดือด) พิมพ์โดย สนพ.สยามอินเตอร์คอมมิค ถ้าจำไม่คลาดเคลื่อน ก็คือวันที่ 1 กย.ปี 2539 ช่วงเศรษฐกิจกำลังตก (ผมตกงานพอดี) เป็นงานของ อ.ซึกาสะ โฮโจ คนเขียนซิตี้ ฮันเตอร์ ว่ากันว่าคนเขียนเป็นคนกำหนดมาลงใน c-kids ชิมลางอ่านจากด้านหลัง
(ซีคิดส์ปรับอ่านจากหลังมาหน้าหมด ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2547 (ปกนักรบเหล็กเทวะ))
เรื่องของอาจารย์คนนี้ มี
– แคทอายส์
– ซิตี้ฮันเตอร์
– เอฟ คอมโบ
– รัช หรือ Rash
– เรื่องสั้นจำชื่อไม่ได้
เรื่องล่าสุดตอนนี้ คือ แองเจิ้ลฮาร์ท (หรือซิตี้ฮันเตอร์ภาคสอง ซึ่งใจผมไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ รุ้สึกว่ามันจบสมบูรณ์แบบไปแล้ว…555)
ปล.ไปๆมาๆ ผมชอบงานเก่าๆที่แกเขียนมากกว่าแหะ
8. การ์ตูนญี่ปุ่นที่ฉายตามโทรทัศน์เรื่องแรกในไทย คือเรื่องอะไร ทางช่องไหน ในปีอะไร
ตามหลักฐานที่มีในมือเดิม คือ ปี 2514 ช่อง 4 บางขุนพรหม เวลา 14.30 น. วันอาทิตย์ หน้ากากเสือแน่นอน
ที่ผมมีในมือเป็นหนังสือดาราทีวี ปี 2514
ล่าสุดที่ได้ข้อมูล คือ เจ้าหนูลมกรด ปี 2508 ช่อง 4 บางขุนพรหม
โดยมีหลักฐานล่าสุดจากเว็บกาโม่ โดยคุณอาไช้ arcai2001 และคุณ Naoto ครับ เป็นหนังสือผังรายการชื่อหนังสือแฟนสัมพันธ์ ของโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 และ 4 เดือนมกราคม 2509 หน้า 91
มีเจ้าหนูลมกรด กับ เจ้าหนูปรมาณู (อะตอม) อยู่ 2 เรื่องแรก
9. การ์ตูนญี่ปุ่นที่ฉายทางโรงภาพยนตร์เรื่องแรกในไทย คือเรื่องอะไร ในปีอะไร
เรื่องโดราเอมอน ภาคไดโนเสาร์ของโนบิตะ ฉายในวันที่ 21 เดือนสิงหาคม 2525 ที่ โรงหนังเมโทร อยู่ตรงเพชรบุรีตัดใหม่
กับสามย่าน โดยไชโยภาพยนตร์ ผมไปดูที่เมโทรวันแรกเลย ตอนนั้นใช้ชื่อว่า โดเรม่อนผจญไดโนเสา (ฟังแปลกๆใช้ม๊า แต่จริงๆนะ)
แถมรู้สึกจะมีอีกภาคตามมาติดๆนะ ภาคผจญอวกาศนี่แหละ โรงเดิมเลย
มาแบบต่อเนื่องด้วย คือสิ้นเดือนปั๊บก็ได้กินค่าขนมผมปุ๊บ จนครับ ดูหนังสองเรื่องติดๆ
เดี๋ยวนี้ผ่านไปพันธ์ทิพ ผ่านถนนเพชรบุรี แล้วยังมองที่ตั้งโรงหนังเก่าตรงนั้นแล้วคิดถึงสมัยก่อน
เรื่องสุดท้ายที่ผมได้ดูที่เมโทรคือโพสเตอร์ไกส์ (ชื่ออาจพิมพ์ผิดนะ) เป็นเรื่องผีที่น่ากลัวเอาการ
10.การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกในหัวใจของผม คืออะไร
เรื่องนี้ตอบง่ายที่สุด เพราะเรื่องนี้ทำให้ผมชอบเรียนสายวิทย์ และสนใจวิทยาศาสตร์
นั่นก็คือ โดราเอมอน ครับ
ฉบับที่ผมกำลังหาสะสมอยู่ตอนนี้เป็นยุคก่อนลิขสิทธิ์ ที่ใครๆอาจจะทิ้ง แต่นั่นคือความทรงจำของผมจริงๆครับ
……………………
เรื่องไหนที่มีข้อมูลเพิ่มเติมแนะนำได้นะครับ กำลังทำการบ้าน…แฮ่ม
๋โจ้
2526 นี่ปีเกิดผมเลยนะครับพี่
การ์ตูนญี่ปุ่นนี่อยู๋คู่กับเรามานานเหมือนกันนะครับเนี่ยก่อนผมเกิดซะอีก
แต่ที่ อ่านๆที่พี่เล่าถึงนี่ Zero กับ Talent ผมอ่านทันนะครับ ซื้อมาอ่านดราก้อนบอล
หลังๆดราก้อนบอลนี่ ดูตามทีวีไม่ไหว ยืดมาก ตอนนึงจ้องตากันไปซะครึ่งตอน กว่าจะสู้กัน หุหุ ก็เลยต้องอ่านเอา
ส่วนพวก บูมคอมมิคนี่ตอนประถมผมก็ซื้อๆมาอ่านนะครับ ถึงจะมีการ์ตูนรวมเหมือนกันแต่ถ้าเทียบกับ พวก Zero หรือ Talent แล้วผมว่าอ่านบูมมันจืดๆไปนิด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม สงสัยเพราะบูมมีแต่การ์ตูนลิขสิทธิ์(บางเรื่องก็เอื่อยๆไงบอกไม่ถูก)เลยเลือกเฉพาะเรื่องที่มันส์ๆสนุกๆเหมือนกับ Talent ไม่ค่อยได้ ผมว่าลิขสิทธิ์บางทีมันก็ดีนะครับแต่บางทีเหมือนเราโดนบังคับซื้อยังไงไม่รู้เหมือนกัน(ความรู้สึกของผู้บริโภคคนนึงนะครับหุๆ) แต่ก็มีบางเล่มเหมือนกันที่ผมชอบ อย่าง C-kids นี่แต่ก่อนผมก็ซื้อประจำเหมือนกัน หุหุ เล่าแล้วยาว อ่านที่พี่หาข้อมูลมาแล้วนี่ได้รู้อะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับการ์ตูนเพิ่มขึ้นอีกนะครับเนี่ย ^^