เทป 3 สำหรับเกมกลยุทธ
ผมว่า เริ่มจะเข้ารูปเข้ารอยของคำว่าเกมเป็นเกมยิ่งขึ้น

อันดับแรกคือที่คาดไว้ว่า จะมีการคละทีมโดยการใช้การเลือกบุคลากร
ซึ่งก็ทำจริงๆในตอนนี้ และกระบวนการแบบนี้
เป็นกลยุทธที่สำคัญของกรรมการทีเดียว ในเกมนี้

น่าเสียดาย คือ การที่ไม่ให้ดูกระบวนการเลือกจนจบ
กระบวนการเลือกบุคลากรแบบนี้ สำหรับเกมเรียลลิตี้
ความกดดันระหว่างเลือก และการที่คนที่มีสิทธิ์ เลือกจะเลือกใคร
เป็นการลุ้นของคนดู(ที่ออกอยากรู้อยากเห็นอย่างแรง)
ที่ไม่น่าตัดข้ามตอนไปเลย

ถ้ามองในแง่การติดตามของคนดู
ที่จะเห็นกระบวนการตั้งแต่ต้น จนจบ
จะเห็นภาพรวมของเกมมากขึ้นและสนุกกับความเป็นเรียลลิตี้
ไปพร้อมๆกับสาระที่ได้ ได้น่าติดตาม น่าลุ้น

ส่วนที่สอง คือ โจทย์ที่ใช้คราวนี้
เป็นโจทย์บนกระดาน ที่จะขับเน้นด้านกลยุทธเฉพาะตัวที่เด่นชัดขึ้นมา
โดยไม่มีตัวแปรภาคสนามเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นชัดเลยว่าใครมีบทบาท
ทั้งที่พยายามมีบทบาทในทีม หรือทีมต้องพึ่งพาบทบาท
(ที่งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน) และจะทำให้กรรมการเห็น รวมถึงคนดูที่รู้สึกได้
ไปจนถึงอีกด้านของการทำงานร่วมกัน การใช้ศักยภาพของทีม
และการถ่วงดุลกันเอง

เหตุผลที่ผมเรียกว่าโจทย์บนกระดานเพราะ
ที่จริงแล้วภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ต้องละเอียดอ่อนมาก
และใช้เวลาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะได้แนวทางที่คิดว่ามันใช่
ด้วยองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงและมีข้อจำกัดมากมาย
ที่คนที่คร่ำหวอดในวงการถึงจะพอมองภาพรวมทั้งหมดได้
ค่อนข้างครอบคลุม และไม่สามารถมองผิวเผินได้

แถมถ้าว่ากันตามตรงแบบตรงไปตรงมา
ก็ยังต้องบอกว่า ถึงขนาดคนที่คร่ำหวอดในวงการ
ก็ยังต้องส่ายหัว หลงทาง และตกม้าตายกันมาเยอะ
เพราะที่คิดนั้นเมื่อโดดลงสนามไปในตลาดจริงๆ นั้น
อาจจะเพิ่งเห็นว่ามันยังไม่โดน และต้องปรับต้องแก้อีกมาก
ทำไปปรับไปจนตบให้เข้าที่

ตลาดของจริง ถึงแม้จะมีการวิจัยที่พอเห็นแนวทาง
ก็ยังใช่ว่าจะตอบอะไรจบทั้งหมด

ตัวอย่างของโอสถสภาที่เห็นได้ชัดก็คือ เอ็มร้อยห้าสิบ
ที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธมาจนลงตัวในปัจจุบัน
ถ้าเปรียบกับตอนเริ่มต้นสมัยแรกๆ กับปัจจุบัน
ตั้งแต่ตามหลังกระทิงแดง แล้วปรับกลยุทธ์ลง
จับทางถูกจนกลายเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาด
ก็จะเห็นว่ากลยุทธ์นั้นคนละเรื่องทีเดียว

เพราะฉะนั้นเรื่องคิดในสัปดาห์เดียว คิดผิดคิดใหม่
เป็นเรื่องที่ไม่ว่ากันเลยจริงๆ ขอให้กระบวนการคิด
มีข้อดี มีจุดเด่น ที่เห็นแววออกมาเป็นใช้ได้

และแต่ละทีมก็เห็นแววกันหลายคน
ที่เด่น คือ การคิดชื่อ วางภาพลักษณ์ในใจผู้ซื้อ
เรื่องนี้ผมเห็นว่าน่าสนใจ

ที่จริงแล้วในแง่มุมของคนจีนจะเห็นว่ายึดติดกับ sign
สัญลักษณ์ของโชค ความเฮง ความสมบูรณ์เป็นมงคล
ถ้าวางลงตัวจนขยายเป็นเทรนด์ได้ อีกมากมาย
เช่น เวลาที่เจ็บป่วย นิยมเอาอาหารเสริมไปเยี่ยมไข้
ถ้าเป็นเทรนว่าต้องซื้อ 8 ไปเยี่ยมไข้ เพราะว่า
แสดงถึงความรู้สึกมงคล ให้หายเร็วๆมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
แน่นอน sign แบบนี้ ขยายผลไปถึง ปีใหม่ ตรุษจีน วันเกิดได้เลย
นี่คือกลวิธีคิดที่น่าสนใจและขยายผลได้ เป็นแต้ม +1

นอกจากนั้นการทดสอบความคิดตัวเองโดยลงพื้นที่
เพื่อให้ทีมได้สัมผัสกับแนวความคิดกลุ่มหนึ่งของผู้บริโภค
ก็ช่วยได้มากในการตบความคิดให้เข้าทาง
ดีกว่าคิดไปจากข้อมูลที่ให้อย่างเดียว

ส่วนอีกทีม แนวความคิดการต่อยอด
ถือเป็นกลยุทธที่ดี เพราะสินค้าที่ต่อยอด จุดแข็ง คือ
สินค้านั้นย่อมต้องผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นมาแล้ว
ทำให้มุ่งหาทิศทางที่ชัดเจนในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายได้เลย
เช่น มองถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่ยังมองข้าม ไปจนถึง
การเจาะ segment กลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะ
เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและเห็นช่องว่างบางอย่าง

เทปนี้ ผมเห็นว่าความรู้เฉพาะทางของ บู๋
ช่วยตบ segment ได้ดี
และเป็นคำตอบที่อ่านทาง
และตีโจทย์ทะลุถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้ลงตัวทีเดียว
ด้วยพื้นฐานที่ร่ำเรียนมาทำให้ บู๋
ตีโจทย์จากพื้นฐานคุณสมบัติสินค้า
และมองแง่มุมต่อยอดได้ขาด
ทำให้ทีมนี้แน่นในแง่ของทิศทางที่ชัดเจน
ซึงถือเป็นแต้มต่อ + 1 ทีเดียว

แต่ขณะเดียวกัน
เทปนี้ดูเหมือนจะชี้จุดอ่อน บู๋
ในการมองข้ามส่วนสำคัญของโลโก้ไว้แรงทีเดียว
เพราะว่าที่จริงกว่าจะคิดออกมาจบแล้ว โลโก้เรียกว่าจะไปแตะไม่ได้เลย

เหตุผลหลัก คือ มันได้ผ่านการสรุปจากทุกฝ่ายมาแล้ว กว่าจะมาเป็นข้อสรุปอย่างที่เห็น
ยกเว้นว่าจะใช้ชื่อสินค้าใหม่ไปเลย ซึ่งจะทำให้อิสระกว่าในการคิดชื่อ
(ที่จริงเรื่องนี้ มันอยู่ที่อ่านตลาดก่อน ถึงจะมาคิดว่าต่อยอด หรือสินค้าใหม่)
สำหรับ “เกม” ถือว่า +1ครับ
การต่อยอด นั้นเป็นทางเลือกที่มาก่อนการออกสินค้าใหม่
และแน่นอน เมื่อฝ่ายหนึ่งเลือกต่อยอด (ต่อรอยใหม่ๆ)
ในขณะที่อีกฝ่ายคิดผลิตภัณฑ์ใหม่(ซึ่งเหนื่อยกว่า)
รายละเอียดการบ้านที่มากกว่าย่อมเปิดรูรั่วให้มากกว่าในเกม

ส่วนที่เหลือที่จริงแล้วน่าจะใกล้เคียงกันมาก สำหรับเกมนี้ครับ
เชื่อว่า ตัดสินได้ยากสำหรับกรรมการ และคนดูเอง
แต่ตัวที่จะสรุปในเกมนี้ก็คือการวิจัยการตอบรับการตอบสนองสินค้า
ของตัวแทนกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ที่จะทำให้เห็นภาพได้มากที่สุด

ภารกิจแบบนี้ ควรมองว่าเป็นเกม
และเป็นแค่ภารกิจจำลองที่ทำให้ผู้ดูเข้าใจที่มาของการคิดค้นผลิตภัณฑ์
ยังผิวมากๆสำหรับกิจกรรมจริง เพราะข้อจำกัดที่มากมาย
ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตที่สอดคล้องกับเพดานราคาในท้องตลาดที่เหมาะสม
ข้อจำกัดของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ ต้นทุนขวดแต่ละแบบ
คุณสมบัติและข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ (เช่นถูกแสงไม่ได้ มีตะกอนไหม)
ที่จะเป็นตัวบังคับว่าจำเป็นต้องบรรจุในรูปแบบไหน

รายละเอียดที่เยอะมากกว่า 1 สัปดาห์และเทป ชม.ครึ่งจะถ่ายทอดได้หมดนี้
ย่อมไม่สามารถถ่ายทอดทั้งหมดออกมาได้ แต่ก็ทำให้เห็นภาพรวมได้

จึงถือว่าเป็นภารกิจที่ควรดูสำหรับนักศึกษาด้านการตลาดโดยตรง
และสำหรับคนที่สนใจความรู้รอบตัว เรื่องนี้ก็น่าสนใจ
และสามารถนำไปประยุกต์ได้มาก

ในแง่เกม เทปนี้ที่ขาดไปบ้างที่ผมเห็นว่ามีผลต่อการติดตามของคนดู
คือ ที่จริงน่าจะถ่ายทอดให้เห็นบ้างว่าแต่ละคนในทีมได้มีบทบาทในทีมอย่างไร
จับหัวหน้าทีมมาเล่าบ้างก็ได้ว่าเทปนี้วางตัวใครอย่างไร และแต่ละคนที่มาเล่าว่า
ตัวเองกำลังทำหน้าที่อะไรในทีม ซึ่งจะขยายรายละเอียดของทีมให้คนดูเห็นภาพ
และผู้ชมจะได้เห็นบทบาทโดยเฉลี่ยของทุกคนมากขึ้น ตามลักษณะของเรียลลิตี้
และจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคนที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าทีม แต่มีบทบาทในทีม
รวมถึงถ่ายทอดช่วงเวลาของการโหวตด้วย (เทปนี้ปรับใหม่แบบ positive เลือกคนที่อยากให้อยู่)

แต่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าจำนวนคนน้อยลงในเทปต่อๆไป
คงจะมีเนื้อที่ให้กับเรื่องเหล่านี้บ้างครับ