เรื่องราวของ ตอนจบของโดราเอมอน

ตอนจบของโดราเอมอน

ตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอน

เรื่องราวของ ตอนจบของโดราเอมอน เป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก ตลอดมา แต่ก่อนที่จะเล่าถึงตอนจบ เรามารู้จักตอนแรกกันก่อนไหมครับ ไหนๆ ถ้ารู้ก็รู้อย่างรู้จริงเถอะครับ เสียเวลารอบนี้อ่านบลอกนี้ให้จบ รู้จริงกันไปเลย

สำหรับคนที่ติดตามอ่านมายาวนาน คงทราบดีว่าเรื่องมันเริ่มขึ้น โดย นับจากเดือน พย.ปี 1969 (อ้างอิงตามนิตยสารโคโรโคโระ ฉบับครบรอบ 30 ปี) นับจากวันที่โดราเอมอนถือกำเนิดขึ้นมา และตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 1970 นั่นหมายถึงว่าทางญี่ปุ่น เขานับว่าตอนแรกของโดราเอมอนนั้นถือว่าเกิดขึ้นในปี 1970 นะครับ

และหลังจาก อ.อาบิโกะ โมโตเอะ และ อ.ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ตัดสินใจแยกนามปากกา ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ที่ใช้มาร่วมกัน (ตอนนั้นทั้งคู่อายุมากแล้ว และเหตุผลที่สำคัญ คือ อ.ฮิโรชิ ตรวจพบมะเร็งในตับอ่อน ผมยังเคยคิดว่า อาจเป็นเพราะจะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องมรดกลิขสิทธิ์ของทั้งสองครอบครัว )และทำให้นามปากกา ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ แยกเป็นสอง กลายเป็น (เอฟ) และ (เอ) คือ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ และ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอฟ (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ โดยความคิดเห็นของ อ.อิชิโนโมริ โชทาโร่)

นับจากนั้น โดราเอมอน ถูกนับเป็นผลงานของ อ.ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ หรือ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ และการกำหนดตอนจบที่แท้จริงก็เป็นสิทธิ์ขาดของ อ.ฮิโรชิ แต่เพียงผู้เดียว

ที่มาของการแยกตัวนั้นสะท้อนถึงแนวคิดของคนญี่ปุ่น และมิตรภาพของทั้งสองคนอย่างมากมายครับ

ในวันที่ โดราเอมอน ถือกำเนิดขึ้น
เป็นช่วงเวลาที่ สตูดิโอซีโร่ เพิ่งปิดตัวไปไม่นาน
หลังจากทั้งคู่เห็นว่ามันเกินที่จะฝืนเดินต่อไป ก็ตัดสินใจปิดตัว Studio Zero ลง
ทั้งคู่ได้แยกย้ายกันชั่วคราว ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง

แต่ในหลายเดือนต่อจากนั้น ซึ่งเป็นปี 1969  มีการพูดถึงการ์ตูนใหม่ และตัวละครตัวใหม่ ที่รอจะเปิดตัวในช่วงปีใหม่ของปีถัดไป โฆษณาน่ะถูกประกาศออกไปแล้ว ตัวละครใหม่ที่จะออกมาจากลิ้นชัก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนอ่าน  แต่ อ.ฮิโรชิ ยังตื้อตันเกี่ยวกับ ตัวละครตัวใหม่ คือที่จริงยังไม่ได้คิดตัวละครใหม่ตัวนี้เลย (ฮา)

แต่ในที่สุด  อ.ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ก็ได้ไอเดียขึ้น อย่างที่ทราบกันในปัจจุบันนั่นแหละครับคงไม่ต้องเล่ายาว คือ อ.ได้ไอเดียมาจากแมว และตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาว ในเดือนพฤศจิกายน 1969 หรือปี 2512 (ตรงกับเดือนและปีเกิดผมพอดี..555) แน่นอนว่าหลังจากนั้น อ.ฮิโรชิ ก็กลับไปตามตัวเพื่อนคู่หูคู่ซี้ อย่าง อ. อาบิโกะ มาช่วยเขียนช่วยกันแต่ง และทำต้นฉบับร่างชิ้นแรก เพื่อส่งต้นฉบับให้ทันในเดือนธันวาคม ก่อนที่จะนำไปตีพิมพ์จำหน่าย ในฉบับรับปีใหม่ต้นเดือนมกราคม 1970
เพราะฉะนั้นสิ่งแรก ใครที่สงสัยว่าโดราเอมอนเป็นผลงานของทั้งคู่ไหม หรือเป็นของ อ.ฮิโรชิ คนเดียว ก็ขอให้เข้าใจได้เลยว่า แม้เป็นผลงานที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาของ อ.ทั้ง 2 ท่าน แต่ อ.ฮิโรชิ เป็นคนคิด ดังนั้น เมื่อตกลงแบ่งลิขสิทธิ์ ก็นับเป็นของ อ.ฮิโรชิ นั่นเอง

นอกจากการเขียนโดราเอมอนแล้ว ทั้งอ.ฮิโรชิ และอ.อาบิโกะเองก็มีผลงานของตัวเองไปด้วย พูดง่ายๆว่าทั้งเขียนเรื่องส่ง สนพ.โดยส่วนตัว และมีงานที่ช่วยกันเขียน โดยทั้งหมดใช้ชื่อร่วมกันว่า ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ตั้งแต่เรื่อง ผีน้อยคิวทาโร่ (ก่อนหน้านั้นก็เคยใช้นามปากกาอื่นมาก่อน เรื่องนี้ใครสนใจจะเล่าให้ฟังอีกถ้ามีโอกาส)

ผลงานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นของ อ.ฮิโรชิ ก็คือ Fujiko F. Fujio SF Collection งานเขียนที่จะทำให้คนเขียนรู้จักกับ อ.ฮิโรชิ อีกด้านหนึ่งที่ลึกซึ้งคมคาย และเด่นเรื่องของการวางพลอตนำสมัยไม่ตกยุคแม้จะ 20กว่าปีล่วงไป ที่คอโดราเอมอนควรจะหามาอ่านเพื่อได้รู้จักกับคนเขียนมากขึ้น แทนที่จะมองแค่มิติเดียวกับงานเขียนเพียงด้านเดียว กลับจะเห็นรอบตัว และมุมมองของ อ. ฮิโรชิ และรู้จักตัวตนของคนเขียนมากๆ แนะนำให้หามาอ่านและซื้อเก็บ

ในระหว่างที่โดราเอมอนเติบโตจนมีชื่อเสียงมากขึ้นทุกวันๆ อ.อาบิโกะ มักคิดอย่างถ่อมตนเสมอว่าตนเองเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาช่วยเพื่อนสร้างผลงาน ในขณะที่ อ.ฮิโรชิ เอง ถือเสมอว่าเป็นผลงานร่วมกัน เพราะถ้าไม่มี อ.อาบิโกะ ก็ไม่มีโดราเอมอนเช่นกัน เรื่องแบบนี้ใครที่มีเพื่อนสนิทคบหากันมาตั้งแต่สมัยประถม ตั้งแต่แรงบันดาลใจวันแรกที่ทั้งคู่ได้อ่านการ์ตูนเรื่อง ชิน ทาคาระจิม่า และเกิดแรงบันดาลใจ ถึงขนาดเขียนจดหมายไปหา อ.โอซามุ เทตสึกะ จนอาจารย์ โอซามุม เทตสึกะ ตอบรับ และเชื้อเชิญให้ได้เดินทางไปบ้าน อ.โอซามุ เทตสึกะด้วยกัน เดินทางจากบ้านเกิดโทยาม่า ไปถึงบ้าน ในวัยเรียน แล้วก็กลับมาสร้างแรงบันดาลใจต่อที่โรงเรียน เรียนจบพักไปช่วงนึงก่อนที่จะชักชวนเดินทางเข้าโตเกียว เป็นนักเขียนการ์ตูน ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ต้องนอนห้องเช่าเล็กๆ ด้วยกัน ที่ TOkiwa so ในระหว่างช่วงเวลาบุกบั่นสร้างอนาคตจากความฝันการเป็นนักเขียนการ์ตูนด้วยกัน เล่ากันว่าถึงเวลานอน ขนาดที่ต้องเปิดประตูเวลานอน เพราะ ส่วนสูง ของ อ.ฮิโรชิ พอนอนแล้ว เกินความยาวของห้อง ซึ่งก็คงคงจะบอกความเล็กของห้องได้เป็นนัยๆ

คาแรคเตอร์ตัวละครเด่นๆ ของ อ.อาบิโกะที่คุณจะเห็นได้ชัดก็คือ ซูเนโอะ ครับ คุณจะเห็นได้จากงานเขียนของ อ.อาบิโกะ อยู่บ้าง (สังเกตที่รูปปากแบบนี้ ในไคบุทสึ และอีกหลายๆ เรื่องดูนะครับ) ตัวอื่นๆขอไม่พูดถึงเดี๋ยวจะยาว

คราวนี้มาถึงเรื่อง ตอนจบของโดราเอมอน กันบ้างครับ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดราเอมอนเคยมีตอนจบอย่างเป็นทางการแล้ว 3 ครั้ง ในยุค 1971-73 ครับ พูดง่ายๆว่า 3 ปีแรก จบภาคการศึกษาที อาจารย์ก็เขียนตอนจบทีนึง 3 ตอนจบนั้นปัจจุบันเหลือเพียง 1  ในปัจจุบัน เพราะในระหว่างวันเวลาอันยาวนานระหว่างการรีไรท์ ตอนจบก็เลือกเก็บไว้ เหลือให้เห็นอยู่เพียง 1 ตอนที่ถูกนำมาอยู่ในรวมเล่ม 45 เล่มจบ ฉบับปกติ ของ NED (หรือที่เป็นลิขสิทธิ์ของโชกัดกุคัง นั่นคือ ตอนลาก่อนของโดราเอมอน ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ในเล่ม 6  ก่อนที่จะกลับมาเขียนใหม่อีกครั้ง ในตอน น้ำยาโกหก ของเล่ม 7 ส่วนอีก 2 ตอนที่เคยเขียนถึงนั้น ถูกคัดทิ้ง และปัจจุบันคงจะหาอ่านได้ยากมากๆ และไม่ใช่ตอนจบปลอมๆ ที่หลายคนอาจจำผิดๆ มาจากบางแหล่งข้อมูล ในปัจจุบัน ด้วยนะครับ

ตอนจบโดราเอมอน

หลังจากเขียน ลาก่อนโดราเอมอน ตอนที่อยู่ในท้ายเล่ม 6   ถือเป็นตอนจบจริงๆเลย อ.ฮิโรชิ และ อ.อาบิโกะ ได้หยุดเขียนโดราเอมอนไปช่วงระยะเวลาหนึ่งนะครับ  ต่อมาได้รับคำขอ ► ให้กลับมาเขียนต่อ ◄ และตอนนั้นเอง ก็เลยเกิดตอน น้ำยาโกหก ต้อนรับเมษายน เอพริล ฟูล และเป็นการกลับมาที่ยาวนานของโดราเอมอนนับจากนั้น จนถึงช่วงสุดท้ายชองชีวิต อ.ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ เลย

เมื่อทั้งคู่อายุมากขึ้น การแยกนามปากกาอย่างเป็นทางการก็เกิดขึ้นในที่สุด เพื่อที่จะได้จัดการให้เรียบร้อยไปในแง่ของลิขสิทธิ์ที่จะตกทอดต่อไปในอีกรุ่น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องนี้ได้คุยกันมานานแล้ว อ.อาบิโกะ และ อ.ฮิโรชิ ในวัย 50 กว่า ถึงเวลาที่จะต้องมองอะไรแบบผู้ใหญ่บ้างแล้ว และส่วนตัวของ อ.อาบิโกะเอง ก็กำลังให้เวลากับงานด้านอื่นๆ ส่วนตัวด้วย การแยกผลงานที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองท่านนั้นเป็นการแยกจากกันอย่างมิตรภาพ โดยการตัดสินใจของ อ.อาบิโกะ ผู้ถ่อมตนและรักเพื่อนเสมอ หลังจากนั้น อ.อาบิโกะก็ยังมาช่วยดูแลงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะตอนพิเศษประจำปีที่ทั้งคู่ จะใช้เวลาสร้างสรรค์ โดราเอมอนร่วมกัน อย่างสนุกสนานกับการผลิตหนังตอนพิเศษประจำปีในทุกปี ร่วมกับทีมงานที่ต่อมาเติบโตเป็น Fujiko Pro  (จุดสำคัญของการแยกผลงานให้ชัดเจน น่าจะเพราะมีผลต่อสิทธิ์ของคนรุ่นต่อไปด้วยนะ ตอนนั้น 50 กว่าแล้ว มันควรจะทำอะไรไว้ให้รัดกุมจะได้ไม่เกิดปัญหาทีหลัง ผมคิดว่า อ.ทั้งสองท่านทำถูกแล้ว)

แต่บางทีใครอาจไม่ทันสังเกตว่า อ.ฮิโรชิ เคยเขียนตอนจบของผีน้อยคิวทาโร่ ไว้อย่างแสนเศร้าสร้อย เมื่อวันเวลาที่ผ่านไป ผีคิว กลับมาเยี่ยมโชตะ และพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ไม่อาจหวนคืน แม้กระทั่งบรรยากาศสนุกสนานของเพื่อนสนิท ที่โชตะพยายามจะทำให้เหมือนเดิม แต่ชีวิตที่เปลี่ยนไปแล้วของโชตะ ทำให้ผีคิวต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างแสนเศร้าก่อนที่จะกลับไป และอย่าลืมว่า ผีน้อยคิวทาโร่ ก็คือเรื่องแรกของนามปากกา ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ที่ทั้งคู่ใช้นามปากกานี้เขียนไว้ร่วมกัน

ในชีวิตจริง นามปากกา ฟูจิโอะ ฟูจิโอะ เริ่มต้นด้วยมิตรภาพ และจบลงด้วยมิตรภาพ จนถึงวันที่ตกลงแยกลิขสิทธิ์ แตกหน่อนามปากกา เป็น ฟูิจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ และฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ มิตรภาพก็ยังคงอยู๋ และตราบจนถึงวันที่ อ.ฮิโรชิเสียชีวิต (ซึ่งนับเป็นวันสุดท้ายของโดราเอมอนสำหรับแฟนคลับเดนตายหลายคนในสายออริจินอล ใช่ครับ หลังจากนั้นแฟนเดนตายกลุ่มหนึ่งก็หยุดสะสม) แต่ว่าการทำงานผลิต โดราเอมอน ตอนพิเศษ ในยุคต่อมาก็ยังสร้างสรรค์ความประทับใจให้กับเด็กทุกรุ่น แฟนรุ่นใหม่ที่กำลังติดตามโดราเอมอน ก็ยังได้มีความสุขกับจินตนาการโดราเอมอนต่อไป

ผลงานในช่วงที่ อ.ฮิโรชิ เริ่มทีสุขภาพย่ำแย่นั้น มีข่าวว่าบางส่วนบางตอนทีมงานผู้ช่วยฝีมือฉกาจที่สามารถ “แทนที่ลายเส้น” ได้ดี ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ที่จริงก่อนหน้านั้นก็มีการรีเมกเพิ่มเติมตอนเดิมๆ ที่เขียนให้รัดกุมขึ้นแล้ว สำหรับการตีพิมพ์ใหม่ รวมทั้งผลิตงานต่างๆออกมามากมาย และเป็นอย่างนั้นในตลอดช่วงเวลาท้ายๆของ อ.ฮิโรชิ หรือ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เรียกได้ว่า มีตัวตายตัวแทนรองรับทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว งานเขียนช่วงนี้ ยากแยกแยะ สำหรับคอโดราเอมอนหลายๆคน (ขณะเดียวกันก็ยังเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มแฟนคลับเดนตายที่สามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ก็เป็นที่รู้กันในวงแคบ เพราะเป็นเพียงความสุขส่วนตัวในการมองเห็นความแตกต่าง แต่สุดท้ายเรื่องเหล่านี้คงจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเมื่อรุ่นนี้หมดไปครับ)

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ความฮิตของโดราเอมอนที่ติดลมบนอย่างฉุดไม่อยู่ ตอบรับการทำตลาดมูลค่าตลาดมหาศาล และสอดคล้องกับธุรกิจการ์ตูน ของที่ระลึก และสารพัดที่อิงโดราเอมอน เข้ารูปเข้ารอยอย่างลงตัว สิ่งนี้อาจเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้ อ. ฮิโรชิ ไม่มีโอกาสได้จบ โดราเอมอน อย่างที่ตั้งใจไว้

แต่ในสายตาของศิลปินที่ผลิตงาน อย่าง อ.ฮิโรชิ คิดอย่างนั้นหรือเปล่า ผลงานในมือในมุมมองของศิลปิน กับผลงานในมือธุรกิจ นั้น ความคิดเห็นของ อ.ฮิโรชิ ในยุคนั้นไม่มีใครบอกได้ เพราะคนที่เกี่ยวข้องก็พากันปิดปากเงียบ ทิ้งเรื่องราวของข่าวลือพลอตเรื่องตอนสุดท้ายไว้เป็นตำนานที่เล่าขานกัน แต่ก็มีเบาะแสเล็กๆน้อยๆ ในสัมภาษณ์ของ ลูกสาว อ.ฮิโรชิ ในนิตยสารบางฉบับ รวมถึงท้ายเรื่อง รวมเรื่องสั่น SF.ปกทอง เล่ม 7 ของคุณ ฟูจิโมโตะ มาซามิ ก็อาจเป็นร่องรอยเล็กๆที่บ่งบอกความนัยของเรื่องนี้ (ไปหาไปอ่านกันเอาเองนะครับ)

ตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจ เอามาเล่าบันทึกเก็บไว้ คือ เคยมีข่าวว่า “คนไทยบางคน” ได้ไปสัมผัสความลับนั้นด้วยนะครับ สายหนึ่ง คือ รู้จักกับ อาจารย์ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ โดยตรง และได้ไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ ในช่วงก่อนเสียชีวิต อีกสายหนึ่งรู้เพราะมีเพื่อนเป็นทีมผู้ช่วย ที่ทำอยู่ใน ฟูจิโอะ โปร แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายคนก็เข้าใจดีว่ามีบางเรื่อง ที่ควรจะเป็นความลับของมันต่อไป เว้นแต่คนที่มีสิทธิ์เปิดเผยจะเลือกเปิดเผยข้อมูลนี้ขึ้นมาในสักวัน ก็ให้เป็นเรื่องของคนที่มีสิทธิ์ที่จะพูดคนนั้นนะครับ

แต่มูลที่สำคัญของเรื่องนี้ลองไปอ่านใน คำนำของลูกสาว อ.ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ใน SF ปกทอง 7 นะครับ ย้ำ

อีกส่วนหนึ่งที่อยากพูดถึง แบบไม่อยากพูดถึงเท่าไหร่ คือ เรื่องที่มักเข้าใจกันผิดๆ ว่าคือ ตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่งานเขียนของ อจ.ฮิโรชิ สักหน่อย ลองนึกถึงเพลงที่ถูกอ้างเป็นเพลงสุดท้ายของเอลวิสที่ที่เอลวิสไม่ได้แต่ง หรือเพลงสุดท้ายของไมเคิล แจคสัน ทั้งที่มันแต่งโดยคนอื่นก็แล้วกัน อารมณ์นั้น คุณจะฟังแล้วยอมรับได้มันคือของแท้เหรอ อีกอย่างยิ่งรักเรื่องนี้ ชอบเรื่องนี้ยิ่งต้องให้เกียรติผู้เขียน เคารพต้นฉบับ (การไม่เคารพต้นฉบับ ที่คนเขียนเค้าสร้างสรรค์จริง แล้วไปเอาของที่ไม่ใช่ต้นฉบับ ของสวมรอย มาบูชาชาบู ก็เหมือนการที่แฟนคุณบอกว่ารักคุณ ชอบคุณ แต่ไปนอนกับคนอื่นแล้วบอกว่านั่นแหละใช่เลย คิดว่ามันคือการให้เกียรติกันไหม)

คือเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ถูกรวบรวมมาเขียนเป็น โดจิน ตอนจบโดราเอมอน ของ นักเขียนหนุ่ม (ที่ผมขอไม่เอ่ยชื่อถึง เพราะไม่ควรจะมีชื่อเครดิตเท่าผู้เขียนตัวจริง และเพราะเขาไม่ใช่คนเขียนโดราเอมอนสักหน่อย ผมกำลังเขียนถึงคนเขียนโดราเอมอนตัวจริง) และแม้ว่าหลายคนจะชอบตอนจบตอนนี้มากก็ตามเถอะ มันก็ไม่ใช่ของแท้สักนิด การที่บอกกับทุกคนว่าเขารักงานเขียนโดราเอมอน รักจนต้องเขียนตอนจบขึ้นมาเป็นโดจินที่ขายดิบขายดีในยุคนึง จนสุดท้ายในที่สุดทางโชกักคุคัง ต้องออกมาหยุดกระแสด้วยการฟ้องลิขสิทธิ์ มีคำสั่งศาลให้หยุดเผยแพร่ และหยุดจำหน่ายจ่ายแจกโดยสิ้นเชิง และต่อมเป็นธรรมเนียมว่าถ้าใครพูดถึงโดจินชิ้นนี้ งานชิ้นนี้ “ถ้ารู้เรื่องจริง” เขาจะพูดถึง โดยแนบกำกับเสมอว่า นี่ คืองานโดจิน นี่คือการเผยแพร่อยากให้เครดิต และยกลำดับที่ชัดเจน แบบนี้ถึงจะถูกต้อง

กล่าวกันว่าที่ สนพ.ฟ้องเพราะคนเขียน ริอ่านทำตัวเสมอ ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ละเมิดสิทธิ์ อ.ที่ตัวเองเคารพ โดยไม่ได้ขออนุญาต (นับถือแบบไหนกันที่มาสวมรอยแทน) มากกว่าที่จะฟ้องเพราะขายดี แต่ที่จริงอีกเหตุผลนึงที่เชื่อได้ก็คือ มันกระเทือนเม็ดเงินมหาศาลถ้าหาก โดราเอมอน จบ

ในปัจจุบัน ยากมากที่จะสร้างตัวละครขึ้นมาตัวนึง ให้เป็นที่รักและประทับใจของคนทั่วโลกได้อย่างโดราเอมอน และหายฝ่ายเห็นควรจะให้โดราเอมอนลงตัวแบบนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน ถึงเด็กรุ่นต่อไป

สำหรับ ตอนจบของโดราเอมอน
ถ้าหากใครที่แสวงหาตอนจบเรื่องนี้จริงๆ และอยากอ่าน
ถ้าคุณให้เกียรติคนเขียนที่เขียนเรื่องที่คุณรักเรื่องนี้
ผมคิดว่าคุณควรจะลองหยิบเอาตอนจบที่ผู้เขียนเคยเขียนขึ้นจริงๆจากปลายปากกาของคนเขียน
และเป็นต้นฉบับตอนจบได้รับการตีพิมพ์จริงๆ มาแล้ว
ซึ่งรับรู้กันว่าเป็นตอนจบที่ อาจารย์ ฟูจิโอะ เอฟ ฟูจิโกะ เคยเขียนจริงๆ เป็นตัวตั้ง
คุณลองเอาตอนจบที่เคยเป็นตอนจบ อย่างเป็นทางการ อย่าง ลาก่อนโดราเอมอน

มาแปะไว้ที่ตอนสุดท้าย ของเล่ม แล้วอ่าน
มันก็จะกลายเป็นตอนจบที่สมบูรณ์แบบที่สุดในแบบของ อาจารย์ ฟูจิโอะ เอฟ ฟูจิโกะ จริงๆ ที่คุณได้สัมผัส

ซึ่งสำหรับผม ถ้าผมแสวงหาตอนจบ ผมก็เลือกที่จะทำแบบนั้น (ช่วงเวลานึงมันเคยเป็นแบบนั้นจริงๆ)
เพราะนี่แหละคือความลงตัวที่มีความสุข ที่สุด
แทนที่จะไปเอา โดจินตอนจบที่คนอื่นเขียนมาสวมทับเอา ซึ่งเท่ากับไม่ให้เกียรติผู้เขียนเลย

มาอ่านตอนนี้พร้อมรำลึกถึงคนเขียน
ที่สร้างฝันมาให้เราได้สนุกกันครับ
ตอนจบโดราเอมอน

ขอรำลึกถึง อ. ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และ อ.โมโตโอะ​ ​อาบิ​โกะ นักเขียนการ์ตูนที่สร้างฝันในวัยเด็กของผมไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ

http://comipress.com/article
time-asia-doraemon
news

Doraemon true story in The End.

ปล.เพิ่มเติม (ข้อมูลจาก อ.ปมโปโกะ)
คือ ในอดีต ที่จริงแล้ว โดราเอมอน เคยมีตอนจบที่ตีพิมพ์ในการ์ตูน อีก 2 แบบ ที่ตีพิมพ์ในรายสัปดาห์ของ ในยุค 1971-73 แต่ 2 ครั้งแรกนั้น ไม่ได้นำมาตีพิมพ์ในรวมเล่ม หรือเป็นตอนจบที่คัดทิ้งนั่นเองครับ
(ข้อมูลส่วนนี้จะทำให้ประวัติศาสตร์ของตอนจบโดราเอมอนในญี่ปุ่นและบ้านเราที่ได้รับการตีพิมพ์ มีรายละเอียดเพิ่มเติมแตกต่างกันนิดหน่อย)

ต้นฉบับหาดูได้ยากมากแล้ว และคงจะลืมเลือนกันไป ถ้าหากไม่บันทึกเอาไว้ครับ

โดราเอมอนตอนจบที่อ.ฟุจิโกะคิดและเขียนขึ้นมานั้นมีทั้งหมด 3 ตอนลงในนิตยสารสำหรับเด็กประถม 1-4
(เหตุผลคือนั่นเป็นนิตยสารสำหรับเด็กประถมแต่ละชั้นอ่าน เมื่อเด็กประถมเรียนจบขึ้นชั้นไป จึงคิดกันว่าน่าจะมีตอนจบขึ้นมาไว้ตอนที่เรียนจบพอดี)

ครั้งแรกถูกเขียน ขึ้นเมื่อฉบับเดือนมีนาคม ปี 1971 (โรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่นน่าจะปิดราวเดือนมีนาฯ) เนื้อเรื่องคือ เริ่มมีคนจากโลกอนาคตมาท่องเที่ยวในโลกปัจุบันมากไป ต่อมาโดราเอมอนได้รับจดหมายแจ้งจากโลกอนาคต ในจดหมายมีเนื้อหาว่าทางโลกอนาคตได้มีการออกกฏห้ามท่องกาลเวลาขึ้นมาแล้ว โดราเอมอนจึงต้องกลับโลกอนาคตตามกฏที่ตั้งขึ้น

ครั้งที่สองเขียนในเดือนมีนาคมในปี 1972
เนื้อเรื่องคือโดราเอมอนมีเหตุผลบางอย่างที่ต้องกลับโลกอนาคตจึงโกหกโนบิตะว่าเครื่องยนต์ตัวเองมีปัญหาต้องกลับไปซ่อมที่อนาคต โนบิตะก็เชื่อและได้บอกโดราเอมอนว่าเค้าจะยังคงเฝ้ารอโดราเอมอนรักษาตัวเองจนหายและกลับมาอยู่กับเค้าได้อีก สุดท้ายโดราเอมอนได้เลือกบอกความจริงโนบิตะก่อนกลับโลกอนาคต

สองตอนนี้ถูกตีพิมพ์แค่ครั้งเดียว ตามที่เล่านี้ (ข้อมูลนี้เครดิตจากคุณ Enixma)

สำหรับตอนที่สามเขียนในเดือนมีนาฯ ปี 1973 และเป็นตอนที่ถูกเลือกพิมพ์ลงในโดราเอมอนรวมเล่ม ฉบับคลาสสิก และเป็นตอนที่มีตีพิมพ์ในบ้านเราตั้งแต่ยุคสมัยก่อนลิขสิทธิ์ (ในเล่ม 6) เป็นตอนจบที่คนไทยได้อ่านกันและเป็นตอนที่ NeD มีตีพิมพ์ในฉบับลิขสิทธิ์ครับ

ปล.2 คือ มีข่าวว่าที่จริงแล้ว โดราเอมอนถูกแบ่งลิขสิทธิ์เป็น 2 ชุด โดยชุดที่ตีพิมพ์ก่อนรีไรท์ ตอนดั้งเดิม อ.ฮิโรชิได้มอบลิขสิทธิ์ให้กับ อ.อาบิโกะ เก็บไว้ (ฉบับที่เราเห็นในลิขสิทธิ์ปัจจุบันที่ตีพิมพ์ในบ้านเรา โดย NED เป็นต้นฉบับ ที่ผ่านการรีไรท์มาแล้วอีกรอบหนึ่ง และได้เพิ่มเติมภาพรวมถึงรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งในเมืองไทยจะหาเปรียบเทียบได้จากฉบับดั้งเดิมที่เราเคยอ่านในยุคก่อนลิขสิทธิ์ของมิตรไมตรี และวิบูลย์กิจ รวมถึงของอีกหลาย สนพ.ในยุคนั้นที่ไม่มีลิขสิทธิ์กันทั้งนั้นครับ) ฉบับที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการนี้ คือ ลิขสิทธิ์ของ อ.ฮิโรชิ ครับ
http://en.wikipedia.org/wiki/Doraemon#Series_finale_rumors

ถึงบรรทัดสุดท้าย หวังว่า ถึงบรรทัดนี้ ทุกคนคงจะรู้จัก ตอนจบของโดราเอมอน ที่แท้จริง และเผยแพร่ตอนจบที่แท้จริงนี้แทนข้อมูลผิดๆ ที่เชื่อๆกันมานาน ด้วยกันนะครับ