จากวันนึงที่เริ่มจากโจ๊กเล็กๆของ Tim O’Reilly และ Sara Winge กับที่มาของคำว่า Foo Bar
(a “foo bar” — an open bar for “Friends of O’Reilly”) งานส่วนตัวเล็กๆ ของ Tim O’Reilly จัดขึ้นเฉพาะคนที่ได้รับเชิญจาก ทิม โอ’ไรลลี เท่านั้น และแน่นอนว่าเป็นที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในแวดวงไอทีซึ่งพัฒนาไปเป็น ฟูแคมป์ คือ คุยกันข้ามวันข้ามคืนทีเดียว
จุดเด่นแท้ที่จริงของการพบปะในรูปแบบนี้ มันคือการ brainstorm ของคนระดับหัวกะทิ โดยไม่มีหัวข้อกำหนดไว้ก่อน แต่จับประเด็นกันสดๆ เมื่อทุกคนมาเจอกัน และพร้อมที่จะระดมมันสมองมาคุยเรื่องที่พูดถึงได้ ด้วยศักยภาพของคนที่ไปร่วมงาน จนกลายเป็นงานในตำนานที่หลายๆคนต่างอยากได้รับเชิญไปร่วมปาร์ตี้เล็กๆ ที่ “เปี่ยม”ไปด้วย คนที่มีสมอง ที่พร้อมมีดีมาอวดกันอย่างเต็มที่ กลายเป็นแหล่งข้อมูลและขุมพลังที่กลั่นกรองไอเดียดีๆ จนถูกนำมากล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเป็นสัญลักษณ์ของการพบปะกันของคนกลุ่มเฉพาะที่สนใจในเรื่องเดียวกันเป็นพิเศษ
ส่วน บาร์แคมป์ (BarCamp) เป็นชื่อเรียกการรวมประชุมของกลุ่มผู้ใช้งานในวงการคอมพิวเตอร์ โดยบาร์แคมป์เริ่มมีครั้งแรกที่ แพโลอัลโท รัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2548 โดยมีผู้ร่วมงาน 200 คน ซึ่งหลังจากนั้นการร่วมจัดงานในลักษณะนี้จะใช้ชื่อกันว่าบาร์แคมป์
คำว่า “บาร์แคมป์” เป็นการเล่นคำกับ foo-bar ที่ล้อเลียนการประชุม Foo Camp ที่เป็นการประชุมในวงการคอมพิวเตอร์จัดขึ้นเฉพาะคนดังในวงการต่าง ที่ได้รับเชิญจาก ทิม โอ’ไรลลี เท่านั้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการนำแนวคิดนี้มาจัดเป็น Bar Camp โดยเอาคนชอบในเรื่อง เทคโนโลยีมาเจอกัน มาเสวนากันและก็ปล่อย ให้มันดำเนินไปเรื่อยๆโดยไม่มีการกำหนดกรอบหรือ กำหนดการใดๆ ให้ตายตัว
BarCamp เป็นเรื่องของการร่วมมือร่วมใจ ไม่มีผู้ชมจะมีแต่ผู้ร่วมงาน ดังนั้นทุกๆ คนที่เข้ามาจะเข้ามาช่วยกันเติมอะไรใหม่ๆในเรื่องไอที ข่าว ไอเดีย และการเป็นแรงกายแรงงานในการจัดงานด้วยกัน กฏคือทุกคนต้องมีส่วนร่วมในงาน
จาก Foo Bar ไป Foo Camp และสู่ Bar Camp ในบ้านเรา ยังไม่มีใครรู้ว่าปลายทางไปอยู่ที่ไหนแต่มันคือจุดเริ่มที่ผมชอบนะ และคิดว่าน่าจะเขียนถึงสักครั้ง
มาเริ่มต้นทำความรู้จักกับ บาร์แคมป์ (BarCamp) โดยย่อๆ หรือจะไปอ่านต่อที่ barcampbangkok.org ก็ได้ ถ้าหากคุณสนใจที่จะมีสวนร่วมกับกิจกรรมแนวๆนี้ในอนาคต ซึ่งสำหรับคนที่สนใจไอที ผมว่ามีประโยชน์และให้สังคมใหม่ๆกับเรามาก
สรุปย่อ
บาร์แคมป์เป็นการจัดงานที่ไม่มีข้อกำหนดหรือข้อจำกัด ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมงานได้ตราบเท่าที่มีความตั้งใจมาช่วยงาน ดังนั้นจะเป็นผลดีกับทุกๆ คนเมื่อคนร่วมงานมีจำนวนมาก เพราะยิ่งคนมากไอเดียก็จะยิ่งบรรเจิด หัวข้อมากขึ้น และมุมมองก็จะมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อมีคนร่วมงานมาก แรงขับเคลื่อนก็จะยิ่งเกิดมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม บาร์แคมป์ยังเป็นเรื่องของเครือข่ายขนาดใหญ่ ทุกคนที่มาพร้อมที่จะนำตนเองเข้าสู่ระบบเครือข่ายและแบ่งปันประสบการณ์ของ ตัวเอง ดังนั้นงานจะเต็มไปด้วยแลปท็อป รอยเตอร์ฮัพ (Laptop Routers Hub) และ แอกเซสพ้อยท์ (Access Point) ระบบเครือข่ายนี้จะช่วยให้งานบาร์แคมป์ไม่ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงพื้นที่ที่ จัดงานเท่านั้นแต่จะช่วยนำงานออกไปสู่สายตาภายนอกได้ด้วย
บาร์แคมป์เป็นเรื่องของการสื่อสาร ผู้ร่วมงานนำแล็ปท็อปมาเขียนบล็อก(Blog) เกี่ยวกับงานบาร์แคมป์ แบบเรียลไทม์(realtime) นอกจากนี้ยังเผยแพร่งานนำเสนอของตัวเองไปบนเวบหรือแม้กระทั่งแชทผ่านไอเอ็ม (IM) และไออาร์ซี (IRC) จนบางคนอาจทำวิดีโอ สตรีมมิง (VDO Streaming) เกี่ยวกับงานบ้างอาจทำพ็อดแคสต์ (PodCast) กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้งานถูกนำเสนอออกสู่การรับรู้ของคนในโลกอินเตอร์เนตไปจนถึงคนที่สนใจใคร่รู้อีกมากมาย
เอกลักษณ์ของคนที่เปิดกว้างและมีความคิดล้นที่จะนำเสนอผู้อื่น การเปิดกว้างที่จะพบเพื่อนใหม่ และกฏเกณฑ์ที่บ่งบอกไว้ตั้งแต่เริ่มว่าคนที่มาร่วมงานต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรม เป็นตัวเริ่มง่ายๆที่ทำให้เกิดการระดมมันสมองที่มีค่า และเกิดความก้าวหน้า
รูปแบบการจัดงานแบบนี้มีเสน่ห์ดีนะครับ ถ้าผมจัดขึ้น(อยากจัดจัง)สักวัน มันคงจะเป็น โจ๊กประมาณ FoG Bar ละมั้งครับ เพราะผมชอบแนวๆฟูบาร์ที่เชิญคนคอเดียวกันที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาที่ละกลุ่ม จำนวนไม่น่าเกิน 20 คน ไม่เยอะเกินไปที่จะเห็นหน้าทั่วถึงกัน มานั่งคุยกันมากกว่า เพราะว่าจำนวนคนไม่มากเกินไป และผมเองก็อยากเป็นผู้ฟังทุกเรื่องที่แต่ละคนเตรียมมาเล่าและวิเคราะห์ให้ฟังด้วยตัวเอง อีกอย่างฟูบาร์มันมีเบียร์ครับ จิบเล็กๆและคุยกันกลุ่มเล็กๆ พอไหวอยู่สำหรับบรรยากาศแบบนี้ และเป็นงานเลี้ยงเล็กๆที่น่าสนใจชะมัดเลย อ้าวไปๆมาๆจะพัฒนาไปเป็น Beer camp เสียแล้ว
จะเป็นเรื่องอะไรดีนะ มีใครสนใจบ้างไหมน้อ