การดูแลลูกที่มีอาเจียนและท้องเสีย
คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงจะเคยเจอปัญหาลูกมีอาการอาเจียนและมีท้องเสีย และรู้สึกเป็นกังวลที่ลูกมีอาการป่วยเช่นนี้ขึ้น อยากทราบวิธีป้องกัน และวิธีดูแลลูกเมื่อเกิดปัญหาอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งได้รวบรวมข้อควรรู้มาไว้ ณ ที่นี้
สาเหตุของอาเจียนและท้องเสีย
อาการอาเจียนและท้องเสียในเด็กนั้นมีได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางอย่างจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในรายที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียรุนแรงควรนำลูกมาพบแพทย์เสมอ เนื่องจากการอาเจียนนั้นอาจเป็นเพียงอาการนำของโรคอื่นๆที่อาจไม่ใช่จากโรคของระบบทางเดินอาหารก็ได้ ตัวอย่างเช่น อาการที่เด็กซึมลง ปวดหัว และมีอาเจียน อาจเป็นจากการที่มีความดันสูงในสมอง ถ้าเด็กมีอาการคอแข็งและไข้สูงด้วย ให้นึกถึงการติดเชื้อของสมอง, ไข้สมองอักเสบ (encephalitis), เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ฯลฯ หรืออาจเป็นจากการมีก้อนเนื้องอกในสมอง (brain tumor) หรือเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุหรือเส้นโลหิตแตกในสมอง ฯลฯ เด็กที่มีอาการปวดท้องร่วมกับการอาเจียนค่อนข้างมากจนบางครั้งเห็นสิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นน้ำสีเหลืองๆ ซึ่งเป็นสีเหลืองของน้ำดี (bile)ที่ออกมาจากถุงน้ำดี แสดงว่าอาการค่อนข้างรุนแรง อาจต้องนึกถึงเรื่องไส้ติ่งอักเสบ (acute appendicitis), ภาวะลำไส้กลืนกัน (intussusception) หรือภาวะทางศัลยกรรมอื่นๆ ที่ต้องการการผ่าตัด หรือแม้แต่เด็กเป็นเบาหวานในระยะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรดร่วมด้วย (diabetic ketoacidosis) ก็จะมีอาการอาเจียนที่รุนแรงร่วมด้วยได้ ในบางรายพบว่าแม้แต่การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ก็ทำให้เด็กมีอาเจียนค่อนข้างมากได้เช่นกัน
แต่ยังโชคดีที่ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการอาเจียนและท้องเสียในเด็กนั้นมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ไวรัสลงกระเพาะนั่นเอง ซึ่งในรายที่ไม่รุนแรงก็มักจะหายได้เองในเวลา 5-7 วัน
ซึ่งในเมืองไทยของเราก็มี โรต้าไวรัส (Rotaviruses), เอนเตอโรไวรัส (enteroviruses)ฯลฯ เป็น 2 กลุ่มที่สำคัญที่ทำให้เด็กป่วยกัน ที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม เพราะอย่างโรต้าไวรัสนั้นมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกันเองบ้าง และในแต่ละปีจะวนเวียนกันเข้ามาระบาด ในหน้าหนาว (มกราคม, กุมภาพันธ์) การระบาดของโรต้าไวรัสจะยิ่งมากขึ้น ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรต้าไวรัสสายพันธุ์หนึ่งอาจจะไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโรต้าวัสสายพันธุ์อื่นๆได้ สำหรับเอนเตอโรไวรัสก็เช่นกัน มีมากเป็นร้อยๆสายพันธุ์
ที่เคยฮือฮากันเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ เอนเตอโรไวรัส 71 ซึ่งทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปากเปื่อยในเด็กและมีอาการท้องเสียไข้สูงได้ และที่อันตรายคือในบางราย เอนเตอโรไวรัสบางชนิด เช่น เอนเตอโรไวรัส 71 จะมีความสามารถในการทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือมีการติดเชื้อไวรัสขึ้นสมองทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่นที่เคยระบาดในประเทศสิงค์โปร ทำให้มีเด็กหลายรายเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่เรียกว่าอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อชิกเกลล่า (shigella), เชื้อไทฟอยด์ หรือเชื้อซาลโมเนลล่า กลุ่มอื่นๆ, เชื้อหิวาต์, เชื้อแอโรโมแนส (Aeromonas) เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ฯลฯ
ในบางครั้งจะพบว่ามีการติดเชื้อที่ทำให้ท้องเสียร่วมกันมากกว่าหนึ่งชนิดได้ เช่น การติดเชื้อไวรัส+กับการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย 2 หรือมากกว่า 2 ชนิดร่วมกันได้ ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ทำให้เด็กหลายคนมีปัญหาอาเจียนท้องเสียที่เป็นแล้วเป็นอีกได้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆของชีวิต ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินชีวิต การปฎิบัติตน และสุขอนามัยของคนที่อยู่รอบข้างของเด็กว่าดูแลความสะอาดอย่างไร และมีการล้างมืออย่างถูกสุขอนามัยบ่อยๆหรือไม่
วิธีการรักษา
อันตรายที่เกิดขึ้นจากการอาเจียนท้องเสียนั้นพอจะแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ
1. การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่สาเหตุ เช่น
การติดเชื้อแบคทีเรีย ในกลุ่มเชื้อไทฟอยด์, เชื้อชิกเกลล่า หรือเชื้ออหิวาต์ ก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะที่จะครอบคลุมเชื้อชนิดนั้นๆร่วมด้วย ส่วนในกรณีที่เป็นเชื้อไวรัส การให้ยาปฏิชีวนะจะไม่ได้ผลในการทำลายเชื้อ ต้องรอจนกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถขจัดเชื้อไวรัสนั้นๆออกไปจากร่างกายเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลา ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งอาจจะไม่สามารถทราบได้ว่าเกิดจากการติดเชื้ออะไรได้แน่ชัด ในรายที่เป็นมาก แพทย์ก็อาจจะต้องพิจารณาให้ยาปฎิชีวนะด้วยเมื่อมีข้อบ่งชี้ เพราะปัญหาการติดเชื้อท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียก็เป็นสิ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในเมืองไทยเช่นกัน
2. ภาวะขาดสารน้ำและการเสียสมดุลของระดับเกลือโซเดียมและความเป็นกรด- ด่างของร่างกาย
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจนขาดสารน้ำและอีเล็คโตรไลท์ (เช่นเกลือโซเดียมและโปตัสเซียม) จนเกิดภาวะช็อค ความดันต่ำ การไหลเวียนของเลือดไม่ดี มีปัสสาวะน้อย และมีภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis) ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ต้องรีบทำการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อชดเชยปริมาณสารน้ำและเกลือที่ร่างกายสูญเสียไปให้ทันเพื่อป้องกันและแก้ไขอันตรายจากภาวะช็อคที่จะติดตามมา
สำหรับในรายที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียที่ไม่รุนแรงนักและมีการขาดสารน้ำที่ไม่ค่อยรุนแรง เนื่องจากการดื่มหรือทานอาหารชดเชยได้ทันกับที่สูญเสียไป ก็สามารถให้การรักษาโดยการดื่มน้ำเกลือสำหรับท้องเสียอาเจียน ที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเกลือแร่ หรือเกลือซองสำหรับท้องเสีย หรือ โออาร์เอส ( oral rehydration solution, ORS) ซึ่งเป็นคำย่อมาจากน้ำเกลือชนิดรับประทานสำหรับกรณีท้องเสียอาเจียนนั่นเอง ซึ่งในสารน้ำเกลือนี้จะมีส่วนผสมของเกลือและน้ำตาลในระดับปริมาณที่เหมาะสม ใช้ทดแทนสารน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากภาวะท้องเสียหรืออาเจียนมากๆได้ โดยที่จะดีกว่าการให้ทานน้ำเปล่าหรือน้ำผสมกลูโคสเพียงอย่างเดียว
คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะเลือกใช้ชนิดที่เป็นซองแบบที่นำมาผสมน้ำได้เองที่บ้าน ซึ่งจะมีราคาประหยัดกว่าน้ำเกลือสำหรับท้องเสียชนิดที่ผสมแล้วเป็นขวดพร้อมดื่ม แต่ในการชงนำเกลือผงชนิดซองนี้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ในเรื่องปริมาณน้ำที่ใช้ในการผสมให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้สารน้ำและเกลือในปริมาณที่ถูกต้อง นอกจากนี้ก็ควรชงนมเจือจาง (ใช้เนื้อนมในการชงน้อยลงครึ่งหนึ่งจากเดิม) หรือพิจารณาใช้นมพิเศษสำหรับกรณีท้องเสีย เช่น นมที่ไม่มีสารแลคโตส (Lactose-free formula) หรือ นมถั่วเหลือง เพื่อช่วยให้ลำไส้สามารถย่อยและดูดซึทนมที่ทานเข้าไปได้ดีขึ้น เนื่องจากในช่วงที่มีลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อจะพบว่าการทำงานของลำไส้ในการย่อยและดูดซึมนมวัวมักจะลดลง เพราะมีเอนไซม์แลคเตสที่ใช้ในการย่อยลดน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาท้องอืดและมีแก๊สเยอะ ยิ่งทานนมวัวเยอะยิ่งทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น
ในเด็กโตที่สามารถทานอาหารชนิดอื่นๆได้ ควรให้ทานเป็นอาหารอ่อน เช่น น้ำข้าว ข้าวต้ม หรือซุปใส (เช่นต้มกระดูกหมู, ไก่) จะใส่เกลือหรือซีอิ้ว นิดหน่อยพอมีรสชาติได้ ควรงดน้ำผลไม้สด เช่น น้ำส้มสด แตงโม ฯลฯ เพราะบางครั้งอาจทำให้ท้องเสียมากขึ้น ในรายที่ไม่ชอบทานน้ำเกลือสำหรับท้องเสีย ในเด็กโตอาจให้ดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น น้ำอัดลมที่เปิดขวดปล่อยไว้ให้แก๊สหายซ่าแล้ว หรือใช้เครื่องดื่มรสผลไม้แบบกล่องหรือแบบกระป๋อง ที่มีรสชาติที่เด็กชอบให้ทานแทนได้บ้าง
อาการต่อไปนี้เป็นอาการของการขาดน้ำค่อนข้างมากและควรรีบนำเด็กไปพบแพทย์
- 1. มีอาการซึม หงอยลง ไม่เล่น ไม่คุยเหมือนก่อน บางทีจะพบว่าเด็กจะเพลียเอาแต่นอน ในบางรายอาจดูกระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย สลับกับอาการซึมก็ได้
2. ร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตาออกมา น้ำลายแห้ง
3. ไม่ค่อยมีปัสสาวะ หรือสังเกตว่าผ้าอ้อมไม่เปียกจากการที่เด็กไม่มีปัสสาวะเลยหลายชั่วโมง (6-8 ชั่วโมง)
4. กระหม่อมหน้าบุ๋มลึก หรือมีกระบอกตาลึก ริมฝีปากแห้ง
5. การเต้นของหัวใจ หรือ ชีพจรเต้นค่อนข้างเบาเร็ว
6. ผิวหนังที่เคยดูอวบตึง กลับมีความรู้สึกเหี่ยวย่น แห้งๆไป
7. ในกรณีที่มีอาการชักและซึมลง ร่วมด้วย
8. ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 เดือน) เมื่อมีอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำหรือการติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย และเนื่องจากเป็นเด็กเล็ก อาจทำให้อาการต่างๆของการขาดนั้น,ติดเชื้อ สังเกตดูได้ยากกว่าเด็กโต
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกที่มีอาการอาเจียนและท้องเสีย ควรรู้ถึงการดูแลลูกในขั้นต้นที่เหมาะสมและสามารถรู้ถึงสัญญาณอันตรายจากการขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นกับลูก เพื่อที่จะได้รีบนำไปพบแพทย์ให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เครดิต นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม