มีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าไว้ครับ หลังจากการเตรียมตัวแข่ง “เกมเนรมิต” รอบชิงเทปแรก
ผมกับแฟน เราคิดกันว่าจะทำห้องน้ำให้ตรงกับใจผู้ใช้อย่างไร โดยที่เรารู้จริงๆว่าเขาอยากได้แบบไหน
ไม่ใช่การคิดไปเองว่าเขาจะชอบ ก็เลยสรุปว่าจะทำ Research กัน

เกมเนรมิต (Invent games)

จากทำ researched ผู้ที่มาใช้สวนรถไฟจำนวนมากกว่า 400 คน ได้พลิกมุมมองของเราหลายๆอย่างครับ..

เกมเนรมิต (Invent games)
จากการแข่งขัน “เกมเนรมิต”  เพื่อชัยชนะล้วนๆ (ยอมรับอย่างไม่อาย..55)
แต่ยิ่งเข้าไปสัมผัส ฟัง พูดคุยกับคนที่มาสวนรถไฟแต่ละคน
กลับกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้ถึงอีกด้าน นั่นคือ ความสุขที่เราจะสร้างห้องน้ำ

กลับมาเกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไร ออกแบบอย่างไรให้ทุกคนที่มาใช้ห้องน้ำมีความสุข ซึ่งตรงจุดนี้เป็นการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งสำหรับเราในการเล่นเกมมากๆ

ยิ่ง Research ยิ่งเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่เราจะไปเล่นเกมให้ชนะโดยไปเก็บแต้ม
กับการสร้างห้องน้ำดีดีให้เขาใช้มันคนละเรื่อง..

เกิดคำถามกันเองว่า..
การออกแบบห้องน้ำของเราจะตอบสนองความต้องการที่เขาอยากได้จริงๆอย่างไร
เราจะสื่อความตั้งใจที่เราทำไปถึงคนที่มาใช้ได้ไหม เขาจะรับรู้ถึงสิ่งที่เราตั้งใจแค่ไหน
ไปๆมาๆ ประเด็นใกล้ตัวกลับรู้สึกถึงความสุขใกล้ตัวที่มากกว่าเข้าให้..

การค้นพบว่าการที่เราคิดว่าจะสร้างห้องน้ำสาธารณะ
ที่คนมาใช้จะมีความสุขในการใช้ในแบบที่เราคิดได้อย่างไร ..
เราจะทำให้เขาเข้าห้องน้ำเราโดยรับรู้ถึงความตั้งใจของคนสร้างได้ไหม..
เขาจะมีความรู้สึกดีดีในการใช้ห้องน้ำตามที่เราคิดไหม..
และเราจะทำได้ดีพอจนเขาออกปากชื่นชมคนออกแบบได้ไหม ..

กลายเป็นว่าไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ..เป้าหมายหลักที่เราจะมีความสุขมากที่สุด
คือการสร้างห้องน้ำให้เสร็จกับมือเราได้มากที่สุดเพื่อให้ห้องน้ำที่เราตั้งใจอยากทำ
เป็นรูปเป็นร่างตามแบบที่เราอยากให้เป็น เพราะถ้าจบเกมแล้วเราเข้าไปยุ่งไม่ได้อีก
เหมือนรอบแรกที่ห้องเรียนที่เราตั้งใจไม่ได้สานรอยความตั้งใจออกแบบเราให้จบ
คราวนี้เราไม่อยากพลาด อยากทำให้สำเร็จกับมือตัวเอง
เพื่อที่จะได้เป็นอนุสรณ์ของความทรงจำที่สุดๆของเรา

พอไปทำการบ้านเรื่องการตกแต่งห้องน้ำตามแบบที่เราวางแผนจากการ Research
เราก็พบว่า..จุดมุ่งหมายใกล้ๆที่เป็นจริงได้
ถ้าเราวางแผนการทำงานดีดี และลำดับขั้นตอนการทำงานดีดี ไม่ผิดพลาด
24 ชม.เท่ากับการทำห้องน้ำวันละ 8 ชม.ของช่าง 8 คน 3 วัน 8×3=24 ชม.พอดี
ระยะเวลาปูนแห้ง ยาแนวเสร็จ และลำดับการติดตั้งแต่ละส่วน
ถ้าคุมตามที่คิดได้ใน 20-22 ชม.เราจะมีโอกาสสร้างห้องน้ำสำเร็จกับมือได้
เสร็จก่อนกำหนดเวลาการแข่งขัน และเผื่อบวกลบกับเกมในกรณีที่เราโดนอุปสรรค
ก็พอลุ้นครับ
แต่จากการบ้านที่ทำมา ก็มีคำถาม..เกิดขึ้น
เพราะมันมีความไม่พอดี ระหว่างสัดส่วนของการใช้เวลาในเกมอย่างแรงๆ

ทำไงดี ..
ระหว่าง 70 คะแนนเกมของการให้
แต่ต้องเลือกยอมอดนอนไม่ได้พักผ่อนจนห้องน้ำเสร็จ ถ้าทำได้ ความสุขและความภูมิใจเต็มร้อย และจะเป็นบิ๊กเกมสุดๆ ถ้าเราชนะโหวตถล่มทลาย พลิกเกมแบบตั้งหลักกันไม่ทัน
กับส่วนของ 30 คะแนนที่จะเล่นเพื่อตัวเอง ซึ่งจะต้องเก็บเวลาไว้เซฟร่างกายและสมองให้มากที่สุดเพื่อเก็บแต้มสำหรับชัยชนะ
สุดท้ายเราก็เลือกทางที่เสี่ยงมาก คือ 70 คะแนนของการให้ ที่จะไปวัดกับคะแนนโหวตความถูกใจ ไม่ชนะก็ได้ห้องน้ำที่เราทำกับมือ ชนะก็ภูมิใจสุดๆ เอาไปเท่ ไปโม้กะเพื่อนได้อย่างมีความสุข
เอาเป็นว่าถ้าชนะมาก็บิ๊กเกมล่ะครับ..555

ที่จริงจากการทำการบ้านของเราก็มั่นใจพอควรว่า 75-80% ชอบอะไร
ซึ่ง 75-80% ใน 70 คะแนน ก็ราวๆ 52-56 คะแนน พอลุ้นๆ
Research เปลี่ยนทัศนคติในการแข่งของเรามากๆ เคยอยากทำอะไรให้ใครจริงๆไหมครับ.. นั่นละแบบนั้นเลยคิดๆมันก็น่าจะลองดูครับ มันมีความเป็นไปได้ที่ลงตัวมากทีเดียว
เก็บคะแนน 30 คะแนน แบบ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วไป แล้วไปทุ่มที่การสร้างห้องน้ำให้ได้สมบูรณ์ตามคิด เพราะจะได้สื่อสิ่งที่เราคิดออกมาได้จบถ้วนกระบวน และถ้าหากอีกฝ่ายเรียงลำดับขั้นตอนการตกแต่งห้องน้ำไม่ดี เราจะยิ่งมีโอกาสเพราะห้องน้ำมีรายละเอียดจุกจิกมากๆ ยาแนว และปูนสั่งอะไรไม่ได้เลยนอกจากรอให้เขาแห้ง และโยกขั้นตอนให้สอดคล้องกับการติดตั้งแต่ละส่วนให้ไวที่สุด (แต่ก็ต้องลุ้นเรื่องช่างด้วยว่าเขาจะทำกับเราแค่ไหน)

จุดสำคัญที่เราเลือกวิธีนี้มีเหตุผลสำคัญ 5 ข้อครับ

1) ห้องน้ำที่เราสร้างเป็นถาวรวัตถุที่จะคงอยู่เป็นประโยชน์ไปอีกนาน แพ้ชนะยังไม่รู้ แต่ว่าถ้าเราสร้างเสร็จได้ตามที่เราออกแบบและตั้งใจทำให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็จะเป็นงานที่เราภูมิใจไปตลอดชีวิต

2) ถ้าเราสร้างเสร็จทันกับมือในระหว่างการแข่งขันได้ตามคอนเซ็ปต์ของเกม เรา คือคนที่ทำได้ ส่วนคนดูคงทึ่ง และทีมงานกับสปอนเซอร์คงอึ้ง…555 เพราะถึงแม้ว่าจะคำนวนยังไง ปัจจัยสำคัญที่จะมาสามารถทำให้เสร็จตามที่คิดก็คือผู้แข่งขันที่อยู่ในเกมเท่านั้น คนอื่นๆแค่คิด แต่เราทำจริงๆ

3) ถ้าเราคิดว่านี่คือการให้ และถ้ามันต้องใช้เวลากับสิ่งนั้น เราก็ต้องให้เวลานั้นมากกว่าที่จะมาห่วงเรื่องของคะแนนตัวเอง และถ้าเราทำเต็มที่แล้วผลของมันจะสร้างเส้นทางของมันเอง

4) คงมีโอกาสไม่กี่ครั้ง ที่จู่ๆมีคนยื่นงบ ยื่นของมาให้เราเลือก เราออกแบบ และเราได้ทำสาธารณประโยชน์มูลค่าขนาดนี้ ซึ่งปกติเราทำบุญมากสุดสักห้าพันก็เยอะแล้ว มีคนหลวมตัวมาแบบนี้ ไม่ถือโอกาสสร้างตอนนี้แล้วจะไปหาโอกาสที่ไหนอีก

5) คุยกับแฟน 2 คนว่า ถ้าสร้างเสร็จด้วยเจตนาที่เราตั้งใจให้มันเป็นประโยชน์จริงๆมันเป็นบุญใหญ่ จะชนะหรือแพ้ก็ตาม บุญนั้นสำเร็จทั้งเจตนาก่อนสร้าง ขณะสร้าง และหลังสร้างอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว (เป็นพวกบ้าบุญครับ..55)

ทั้ง 5 ข้อนี่เทียบกับ อีกแนวที่เราจะเล่นเกมโชว์ปกติ ซึ่งเราจะเซฟสมอง เซฟกำลังตัวเองเล่นให้ได้แต้มมากที่สุดใน 30 คะแนน แต่จำต้องปล่อยห้องน้ำที่อยากทำให้มันเสร็จสมบูรณ์กับมือ ทิ้งไว้ให้คนอื่นมาสานต่อเหมือนตอนเกมคัดเลือก คิดๆแล้วสำหรับตัวเอง ชนะก็ไม่สุโก้ยเท่าไหร่ แพ้ยิ่งแล้วใหญ่ไม่เหลืออะไรในความทรงจำเลย

คิดแล้วคิดอีก ตรองแล้วตรองอีกก็ต้องลองกันดูแหละครับ..ไม่ลองไม่รู้
ถ้าชนะได้ในแบบที่เลือกที่ตัดสินใจ ก็คงเป็น ► บิ๊กเกม ◄ แบบเอาไปคุยอย่างมีความสุข ได้จนลูกมีหลานละครับเที่ยวนี้.. 555 ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรจะเสีย ซึ่งผลสรุปก็ชนะการโหวตครับ ผลโหวต 49 ต่อ 21 เรียกได้ว่าคะแนนโหวตรอบสองในรอบชิงของ “เกมเนรมิต” เราแก้เกมได้ และกลับมาทำงานแบบดีดี ตั้งหลักได้ถล่มทลายกว่า 2 เท่า เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวจริงๆ สำหรับเกมนี้ และห้องน้ำนี้คงจะใช้กันอีกนาน

อย่าลืมไปทดลองใช้กันนะครับ ที่สวนรถไฟ มุมใกล้แอโรบิค ด้านติดกับสวนจตุจักรครับ