theme-banner

สุดท้ายก่อนวันปีใหม่ วันที่ 29 ธันวาปีที่แล้วก็แวะไปเรื่องนี้ดูมาจนได้ครับ
ปกติมีหนังไทยจำนวนไม่มากที่เลือกดู และการไปดูหนังเรื่องนี้ ไม่ผิดหวัง

October Sonata ดูเป็นงานศิลปะมากกว่างานภาพยนตร์สักนิดนะครับ
ยิ่งถ้าใครเป็นคนชอบอ่านหนังสือภาษาสวยๆ และนวนิยายสมัยศรีบูรพา
ผมว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดภาษาสวยๆผ่านมุมมองกล้องออกมาตลอดเวลา
เป็นหนังที่สวย และปราณีตจนรู้สึกได้ไปถึงชุดแต่ละชุดที่สวมใส่ในเรื่อง
โดยเฉพาะชุดที่นางเอกใส่

จุดเด่นของหนังมีหลายข้อในด้านงานศิลป์ และรู้สึกได้ชัดว่าเป็นหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจ
จากหนังสือเรื่องสงครามชีวิต ของศรีบูรพา ชนิดถ้าใครเคยอ่านจะซึมซับเรื่องนี้ได้เต็มอิ่มทีเดียว
หรือน่าจะมีอีกหลายคนที่คิดว่าดูหนังจบแล้วน่าจะลองไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านสักรอบก็เป็นได้

แต่คงไม่ใช่ง่ายที่เด็กรุ่นใหม่จะอ่านสงครามชีวิต หรือดูหนังเรื่องนี้ในประสบการณ์ที่เท่ากันกับคนทำ
จึงมีมุมต่างระหว่างคนต่างยุคพอสมควรในการสื่อสารศิลปะที่ประทับใจในแต่ละช่วงวัย

เรื่องราวของแสงจันทร์เปิดตัวในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 อันเป็นวันที่มีความหมายชั่วชีวิต
เพราะเป็นวันที่เธอล่องลอยนึกอยากไปถึงอ่าวดงตาลที่มิตร ชัยบัญชาตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต
โดยไปกับคนแปลกหน้าที่เป็นชายหนุ่ม

ความพิศวงที่สงสัยว่าทำไมเด็กสาวอายุเท่านี้จึงกล้าทำแบบนั้นค่อยๆคลี่คลายออกมา
จากร่องรอยกลางหลังและประวัติชีวิตเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับป้า และไม่ได้รับการศึกษา

จุดเริ่มของแสงจันทร์จากที่อ่านหนังสือไม่ออก ไปสู่แรงบันดาลใจในการขวนขวายเรียนรู้หนังสือ
และจบลงที่การเป็นนักเขียน สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงและความหักเหชีวิตของแสงจันทร์โดยอาจไม่มีใครสังเกต
การพบกันระหว่างแสงจันทร์กับรวีส่งผลกระทบต่อความประทับใจของแสงจันทร์และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ
ไม่ต่างกับการที่แสงจันทร์ได้พบลิ้ม หรือสมชาย แต่เป็นคนละด้าน

ไม่แปลกสำหรับคนที่เคยมีรักประทับใจแรกพบสักครั้งนึงในชีวิตมาก่อนจะดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างรู้เรื่องและซึมซับ
แต่สำหรับคนที่ไม่มีความรักแบบนี้ อาจตั้งคำถามด้วยความงุนงงสงสัยว่า
คนเราจะรักใครได้เพียงชั่วขณะเวลาที่เจอกันได้หรือ? นั่นคือความต่างที่ทำให้ตัวหนังแยกกลุ่มผู้ดูออกเป็นสองด้าน
เนื่องจากความลุ่มลึกและดำดิ่งของบทในด้านของความรักที่เกิดจากการพบกันชั่วคืน มีผลต่อประสบการณ์ผู้ดู 2 แบบ
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การนำเสนอของหนังแบ่งแยกตลาดคนดูด้วยตัวหนังเองโดยไม่รู้ตัว
รักที่รอและผกผัน บทเศร้า ซึ้ง และหักเห ของตัวเอก เป็นมุมส่วนหนึ่งของประสบการณ์รักของคนไม่ใช่ทั้งหมด
บางกลุ่มที่รักอีกแบบย่อมไม่ซึมซับความละเอียดอ่อนของความรักแบบ “รอ”

ถ้าจะพูดว่า October Sonata เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างหมดจดทุกกระเบียดนิ้ว
อาจเพราะว่าคนเขียนบทและผู้กำกับเป็นคนๆเดียวกัน แต่ความแตกต่างระหว่างบทบาทของผู้เขียนบท กับผู้กำกับ
ก็คือความต่างของบทบาทในการกลั่นกรองบทภาพยนตร์ให้เป็นภาพยนตร์ การถ่วงดุลตรงนี้หายไป
การถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมของคนที่มีประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น
ทำให้ละเลยมุมมองกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โตไม่ทันยุคนั้น และเฝ้ามองบางตอนด้วยความฉงนและตามไม่ทัน
ในขณะที่คนรุ่นนั้นแค่เห็นปี พศ. แค่นั้นมโนภาพหลายภาพก็ผุดเด่นขึ้นมาในความทรงจำ

แต่ด้วยความที่ลุ่มลึกและปราณีตจริง หนังจึงกลายเป็นศิลปะที่มีผู้เสพเฉพาะกลุ่ม
หรือเรียกได้ว่าดี แต่ไม่ตลาด และถึงไม่ตลาดแต่ก็ดีใช้ได้ที่จะจัดเป็นศิลปะ

ที่จริงสำหรับผมยังมีคำถามมากมาย เช่น
ทำไมระวีไม่ปลุกแสงจันทร์ในเช้านั้น
ทำไมเมื่อเจอกันแล้ว ทั้งคู่จึงไม่นัดเจอกันที่กรุงเทพ หรือขอที่อยู่ที่ติดต่อกัน
หรือไม่ตระหนักรู้ว่าการนัดวันแบบนี้มันคลาดเคลื่อนได้ง่ายดายในยุคสมัยที่เราไม่มีมือถือ
หรือเพราะว่านิสัยของผมกับตัวเอกในเรื่องไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดคำถามในใจขึ้น?

แต่ที่ต้องยอมรับคืองานชิ้นนี้ คนเขียนบทใจร้าย และเรียกน้ำตาผมกับแฟนได้ในที่สุด
คำตอบที่ผมได้คือ ทั้งคู่ไม่ได้เกิดมาคู่กัน และไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน
เพียงแต่เส้นทางชีวิตผ่านมาพบเพื่อ “รัก”

รักที่หักเห โดยที่มีความประทับใจชั่วเสี้ยววันเป็นตัวฉุดรั้ง
และคลาดกันคราวแล้วคราวเล่า ราวกับคนเขียนช่างใจร้ายเหลือเกิน
ให้เวลากับความสุขของทั้งสองคนอย่างเต็มอิ่มในชีวิตสักครั้งก็ไม่ได้

แต่คำตอบนั้นอาจอยู่ในหนังสือในเรื่องที่ชื่อว่า สงครามชีวิต ของ “ศรีบูรพา”

october-sonata-pix1