ปัจจุบัน ปัญหาการเจ็บป่วยจากภาวะเครียดในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พบได้บ่อย ซึ่งสามารถแสดงอาการได้ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ แต่ยังมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่ยากนัก โดยที่ผู้คนในสังคมจำนวนมากยังไม่รู้จักหรือคุ้นเคย แม้แต่คนที่ป่วยเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยและไม่ยอมรับ ก็คือ “โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว”
โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นหลัก มีอาการแสดงออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) และกลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมญ์ดี หรืออารมณ์รุนแรงเกินเหตุ จึงเรียกโรคนี้ว่าโรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วลบ = ซึมเศร้า และขั้วบวก = แมเนีย)
โดยปกติคนเราในแต่ละวัน จะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาเป็นปกติ ดำเนินชีวิต รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือเกิดอารมณ์ลบ หรือ อารมณ์บวกแล้ว ค้างอยู่นานเป็นสัปดาห์เป็นเดือน ไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ จนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
กลุ่มอารมณ์ซึมเศร้า ในโลกไบโพลาร์ จะมีลักษณะเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ อาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ มองทุกอย่างในแง่ลบ ความสนใจ หรือเพลิดเพลินใจในสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจ ความจำไม่ดี และสมาธิลดลง นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เป็นภาระ รู้สึกไร้ค่า บางรายคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
สำหรับกลุ่มอาการแมเนีย จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า คือ มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด ความคิด พรั่งพรู มีโครงการมากมายเป็นร้อยเป็นพันล้าน รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก ความมั่นใจในตนเองสูง เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ บางรายนอนเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย สมาธิไม่ดี วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่น การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ซื้อของแพงมากมายเกินความจำเป็น ซื้อที่ละเยอะ ๆ แจกคน เล่นการพนันก่อหนี้สินมากมาย ทำเรื่องเสี่ยงอันตรายผิดกฎหมาย ชอบเที่ยวกลางคืน ความต้องการทางเพศสูง มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม บางคนหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายถ้าถูกขัดใจ คนที่มีอาการแมเนีย จะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ คิดว่าช่วงนี้ตนเองอารมณ์ดี สบายใจ รู้สึกขยันอยากทำงาน มักปฏิเสธการรักษา
คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะมีอาการเป็นรอบ ๆ รอบละประมาณ 3-4 เดือน บางรอบอาจจะเป็นแมเนีย บางรอบอาจจะมีอาการซึมเศร้า ในแต่ละรอบอาการอาจคืนสู่ภาวะปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา และในช่วงมีอาการ มีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า อาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ช่วงอารมณ์แมเนีย อาจก่อหนี้สินมากมายจากการพนัน หรือการลงเอยที่ผิดพลาด อาจทำร้ายผู้อื่น เกิดโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น ใช้ยาเสพติด อุบัติเหตุจากขับรถเร็ว ทำเรื่องผิดกฎหมาย
การจะบอกได้ว่าเป็นโรคนี้ หรือไม่ต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากแพทย์ แต่โดยทั่วไป เราควรนึกถึงโรคนี้ และไปปรึกษาแพทย์ เมื่อมีการขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป หรือมากกว่าปกติของคนคนนั้น เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ มีความผิดปกติของการนอนร่วมด้วย และความผิดปกตินั้นกระทบต่อหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ช่วงรอบที่มีอาการจะเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น และรักษาได้ยากขึ้น
โรคไบโพลาร์เกิดได้อย่างไร
จากการวิจัยจำนวนมาก สรุปได้ว่า โรคไบโพลาร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง มีสารนำประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก เช่น คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป ช่วงอายุที่มักพบว่ามีอาการครั้งแรก คือ ช่วง 18-24 ปี และการเจ็บป่วยครั้งแรกมักสัมพันธ์กับเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิตเป็นตัว กระตุ้น เช่น คนในครอบครัวหรือคนที่รักเสียชีวิต ผิดหวังจากความรัก การเรียน การงาน เป็นต้น
การดูแลรักษาคนไข้ไบโพลาร์
ปัจจุบันมียาอยู่หลายชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อเริ่มรักษา แพทย์มักสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ในเวลาประมาณ 1 เดือน และผู้ป่วยมักมีอาการเป็นปกติในเวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาควบคุมอาการต่อไปอีกประมาณ 6-12 เดือน แล้วค่อยพิจารณาหยุดยา
โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ คือหายกลับไปทำงานเป็นคนเดิมได้ แต่อาจไม่หายขาด วันดีคืนดีอาจกลับมามีอาการอีก ในรายที่มีอาการป่วยมาหลายครั้ง หรือค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาใม่ ที่พบบ่อยคือภาวะเครียดมาก การอดนอน และการขาดยา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม คือ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรายาเสพติด กินยาตามแพทย์สั่ง
ใน ส่วนของญาติก็จำเป็นต้องช่วยเหลือดูแล อาทิ เช่น ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วยเป็นความผิดปกติ เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยไม่ดี ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาตามแพทย์สั่ง สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์ก่อนมีอาการมากเมื่อผู้ป่วยหายจากอาการผิดปกติแล้ว ช่วยให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน เพื่อใช้ชีงิตให้เป็นปกติ
ข้อมูลโดย…นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
โรงพยาบาลมนารมย์ (Health Magazine)
สัมพันธ์
ฝากประชาสัมพันธ์ Facebook: “Bipolar Friend Club”
สำหรับคนที่เป็นไบโพลาร์และคนรอบตัวคนที่เป็นไบโพลาร์
http://on.fb.me/bipolarfc
G®anun
ยินดีครับ 🙂