ที่จริงเป็นข่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่นึกได้ว่าน่าจะเอามาลงเก็บไว้ในฐานะเคสตัวอย่าง สูงมากเจ็บมาก แต่ถ้ามีวิสัยทัศน์และพื้นฐานที่ดีก็จะฟื้นเร็ว

ผลประโยชน์ เก่งกับเฮงเส้นแบ่งกั้นเพียงบางๆ ความ ‘เก่ง’ ดำรง แต่ความ ‘เฮง’ หลบลี้ วิกฤติหนนี้ครอบครัวกรมดิษฐ์ ‘สูญเสีย’ จน ‘ศูนย์เสีย’

ดวงจันทร์บนท้องฟ้า บางวันก็แหว่ง..บางวันก็เต็มดวง โชคชะตามิอาจอยู่นิ่งเฉกเช่นธุรกิจมีน้ำขึ้นก็ต้องมีน้ำลง อาณาจักรอมตะ คอร์ปอเรชัน ของเถ้าแก่ใหญ่ วิกรม กรมดิษฐ์ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2549 เคยมีมาร์เก็ตแคปสูงสุดถึง 23,260 ล้านบาท (ที่ราคาสูงสุด 21.80 บาท) กิจการเดียวกันแต่เวลาผ่านไป 3 ปี มาร์เก็ตแคปตกลงมาเหลือ 3,286 ล้านบาท (ที่ราคาต่ำสุด 3.08 บาท) เสียงบ่นและเสียงก่นด่าดังกระหึ่มเต็มสองหูผู้บริหาร

นับตั้งแต่ทหารเข้าทำรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา ฝันของวิกรม กับอาณาจักรเพื่อความเป็นอมตะของเขาก็เริ่มลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจโลกซ้ำสองบวกกับปัจจัยการเมืองที่ซ้ำเติมไม่หยุด หย่อน แม้ตัวเขาและน้องๆ จะเชี่ยวในเชิงธุรกิจการนิคมแค่ไหน ก็มิอาจต้านทานไหว

ปี 2548 อมตะทำยอดขายที่ดินอมตะนคร และอมตะซิตี้ 1,479 ไร่ ปี รัฐประหาร 2549 ยอดตกวูบเหลือ 548 ไร่ ก่อนจะกลับมาสร้าง “จุดพีค” ในปี 2550 ที่ตัวเลข 1,716 ไร่ ช่วงนั้นผู้บริหารแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า “ยุครุ่งเรือง” กลับคืนมาแล้ว แต่สุดท้ายยอดขายที่ดินก็ไหลรูดมาปิดบัญชีที่ 890 ไร่ ในช่วงสิ้นปี 2551 ทั้งที่ตอนต้นปีเคยตั้งเป้าไว้หรูถึง 1,500 ไร่

ยอดขายที่ดินของอมตะยังเป็นสัดส่วนรายได้ไม่น้อยกว่า 70-80% ของรายได้รวม แต่เทียบเป็นสัดส่วนกำไรไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิแต่ละปี กำไรจากบริการสาธารณูปโภค และให้เช่าทรัพย์สินยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

“อมตะไม่มีวันตายหรอก..แค่ตอนนี้แทบจะอาเจียนเท่านั้นเอง” วิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน บอกกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ถึงอาการพะอืดพะอมทางธุรกิจ

เจ้าของหนังสือเบสเซลส์เลอร์ “ผมจะเป็นคนดี” ยอมรับว่า เดินเกมธุรกิจผิดพลาด จนทำให้อมตะมี “หนี้สิน” เยอะเกินไป (ณ 31 ธ.ค.2551 มีหนี้สินรวม 6,774 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 จำนวน 4,807 ล้านบาท) เพราะไปทุ่มซื้อที่ดินไว้กว่า 10,000 ไร่ ช่วงสองปีที่ผ่านมาคิดว่าเศรษฐกิจจะดี แต่ผิดคาดไม่เป็นอย่างที่คิด..ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา แทบไม่เชื่อตัวเองว่าอมตะยังขายที่ดินไม่ออกเลยแม้แต่ไร่เดียว

ความจริงจากปาก “หมายเลขหนึ่ง” ในวงการนิคมอุตสาหกรรม ก็คือ “ตอนนี้ผมจนมาก หุ้น AMATA ที่ผมถืออยู่มูลค่าหายไปตั้ง 6,000 กว่าล้านบาทแล้วมั้ง!”

เถ้าแก่อมตะ เล่าต่อถึงสาเหตุที่เข้าเก็บหุ้น AMATA มาตลอดช่วงปี 2549-2551 จำนวน 25 ล้านหุ้น ที่ต้นทุนเฉลี่ย 16.79 บาท ใช้เงินไปถึง 420 ล้านบาท ในฐานะ “เจ้าของ” และคลุกคลีกับนักธุรกิจระดับโลกมานาน ถึงได้เห็นอนาคตที่กำลังจะสดใสของอมตะ โดยเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่นำมาลงทุนมาจาก “เงินปันผล” ปีละประมาณ 100 ล้านบาท

“หุ้น AMATA เป็นหุ้นบลูชิพมาตลอด เพิ่งจะมาเสียศูนย์เอาเมื่อปีที่แล้ว (2551) นี่เอง” วิกรม รับสารภาพ ส่วนสาเหตุที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง เจ้าตัว อธิบายว่า หุ้นตัวนี้ “ฝรั่ง” ชอบเข้ามาเล่น เคยมีสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดถึง 55% พอปลายปี 2551 เกิดวิกฤติการเงินโลก กองทุนต่างชาติก็กระหน่ำขายหุ้นออกมาเอาเงินกลับบ้าน

เจ้าของหุ้น ถึงกับเอ่ยบอกว่า หุ้น AMATA ตอนนี้ “ราคาถูกมาก” ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี 4.58 บาทเสียอีก แต่ไม่มีใครกล้ามาเล่นหรอกในภาวะที่เศรษฐกิจโลก (และการเมือง) ป่วยหนักแบบนี้

ซีอีโอระดับโลกก็ใช่ว่าจะ “ทำเงิน” จากสิ่งที่ตัวเอง “คิด” เสมอไป หุ้น AMATA ไม่ใช่ครั้งแรกที่ วิกรม เลือกจังหวะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นผิดพลาด เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เขาเคยเข้าไปลงทุนหุ้นเหมราชพัฒนาที่ดิน (ของสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง) โดยมีตรรกะในการคิดว่า เป็นบริษัทนิคมอุตสาหกรรมระดับเดียวกับอมตะ แต่ราคา “ถูก” กว่ามาก

“ผมซื้อหุ้น HEMRAJ ไป 600 ล้านบาท รอมา 4 ปีมันก็ไม่ขึ้นซักที เลยจำใจต้องขายขาดทุนไปที่ราคา 0.50 บาท ขาดทุนไป 400 กว่าล้านเอง” บทเรียนครั้งนี้จิ๊บๆ เพราะสำทับด้วยคำว่า “เอง”

ต้นทุนหุ้น AMATA “บาทเดียว” ยังทำให้ขึ้นไปถึง 22 บาทได้ แม้ตกลงมาเหลือ 3-4 บาท สำหรับหัวใจนักธุรกิจระดับเสือเช่นเขาย่อมไม่หวั่นไหว

ซีอีโอผู้เจาะลึกประวัติศาสตร์โลก ยังมองเชิงบวกว่า ธุรกิจมีขึ้นย่อมมีลง วันนี้ลงวันหนึ่งก็ต้องกลับฟื้นขึ้นมาได้แน่ แต่อาจจะนานหน่อย เชื่อว่าภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนจะได้เห็นหลังกลางปี 2552 เป็นต้นไป และจะกระทบถึงประเทศไทยสิ้นปีนี้

“ตอนนี้ต้องหวังว่ากลุ่ม G20 จะไม่กีดกันการค้าจากประเทศกำลังพัฒนามากนัก ถ้าเขางดการนำเข้าประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออก 70% ของจีดีพีรับรองอ่วมแน่นอน”

แม้ว่าอมตะปีนี้จะไม่เติบโต แต่ วิกรม มองไกลถึงกาลข้างหน้าไว้แล้ว โดยเตรียมที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 แห่ง ที่อมตะนคร 1 แห่ง และอมตะซิตี้ 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2557 นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างโรงงานผลิตน้ำสะอาดเพิ่มเติมอีกไว้เป็นรายได้ระยะยาวในอนาคต

นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะทำให้อมตะเป็นเมืองแห่ง “วิทยาศาสตร์” พร้อมกับเป็นเมือง “มหาวิทยาลัย” เพราะมองว่าตอนนี้อมตะมี 700 โรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยได้ไปติดต่อกับสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ไว้แล้ว

“ผมยังเชื่อว่าอมตะไม่มีวันตาย เหมือนกับชื่อบริษัทนี่แหละ” มาถึงตรงนี้ วิกรม ยังย้ำคำเดิม

ส่วนเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จควบคู่กันไป ก็คือ “โครงการอมตะคาสเซิล” (เป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิอมตะ ตั้งใจจะให้เป็นที่แสดงงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งภาคพื้นสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระยะยาวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2558) ตั้งอยู่ในบริเวณสนามกอล์ฟอมตะ แต่อาจจะต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด เพราะ “เจ๊งหุ้น” ไปเยอะ ตอนนี้ใช้เงินสร้างไปแล้ว 1,000 ล้านบาท ใช้ปูนไปแล้ว 25,000 คิว เหล็กอีก 5,000 ตัน

“ผมลำบากใจอยู่เนี่ย! บิลเรียกเก็บเงินกองเต็มโต๊ะไปหมด ยังดีที่เจ้าหนี้บอกว่าสร้างก่อนแล้วค่อยจ่ายก็ได้ เบาแรงไปเยอะ”

เจ้าตัว ยืนยันว่า จะไม่ทอดทิ้งโปรเจคนี้แน่นอน โดยจะนำเงินปันผลจากหุ้น AMATA รอบนี้นำมาใช้เป็นทุนในการก่อสร้างต่อไปเพราะต้องการสร้างไว้เป็น “ศิลปะแห่งสุวรรณภูมิ” (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา) สืบทอดต่อให้คนรุ่นหลัง ส่วนด้านการใช้งานเมื่อสร้างเสร็จจะมีห้องบอลลูมขนาดใหญ่จุคนได้ 600 คน

สำหรับทิศทางอนาคตอมตะ ในมุมมอง วิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน น้องชายที่ถูก “อาเฮีย” ทั้งกด-ทั้งดัน-ทั้งบี้ กล่าวอย่างหนักแน่นผ่าน กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายและหนักหน่วงขนาดไหน ขอสัญญาจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ “อมตะ” เหลือเพียงแค่ “ชื่อ” ตราบใดที่ผู้บริหาร (กลุ่มกรมดิษฐ์) ยังอยู่ เราจะ Never Die ไม่เชื่อรอดูได้เลย

“ถ้าจะบอกว่า แสงปลายอุโมงค์ยังมีให้เห็น คุณอาจไม่เชื่อ เพราะบางคนบอกอมตะกำลังเข้าสู่ภาวะยากลำบากของธุรกิจ เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2549-2551) เราโดนการเมืองและเศรษฐกิจโลกทำร้าย แต่คุณอย่าลืมนะ เมื่อใดที่ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธุรกิจของเราซึ่งเป็น “ธุรกิจต้นน้ำ” จะกลับมา “รุ่งเรือง” ก่อนใครเพื่อน”

ถึงกระนั้น วิบูลย์ ก็ไม่ยืนยันว่าอมตะจะกลับมาเป็นปกติดีเหมือนเดิมได้เมื่อไร เขาจนใจที่จะตอบ เพียงบอกว่า ตัวเองมี “สัญญาใจ” กับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่อยู่ 3-4 ราย ที่จับมือกันแล้วว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย จะกลับมาซื้อที่ดินตามที่เคยตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2551 พร้อมทั้งหวังลึกๆ ว่า เม็ดเงินอัดฉีดจากรัฐบาลทั่วโลกจะเข้าสู่ระบบในช่วงครึ่งหลังปี 2552 สภาพคล่องที่ฝืดเคืองคงกลับมาดีขึ้น

เมื่อถามว่าอมตะวางทางออกธุรกิจอย่างไร เขา ตอบตรงๆ ว่า ตอนนี้ยังมองภาพไม่ออก ฟ้ายัง “มืด” แถม “ฝุ่น” ยังตลบเต็มไปหมด ตอนนี้พูดอะไรไปมันคงเหมือนคน “ยกเมฆ” ขอให้ฝุ่นจางอีก 6-9 เดือน ภาพต่างๆ น่าจะเริ่มกระจ่างชัดขึ้น

ทางเดียวตอนนี้ คือการประคองตัว ค่าใช้จ่ายอะไรไม่สำคัญเรา “หั่น” ทิ้งหมด งบก่อสร้างเดิมใช้ปีละ 1,000 ล้านบาท ลดเหลือ 100-200 ล้านบาท มีนโยบายใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด และสิ่งที่ต้องรักษาตอนนี้ก็คือ “เครดิต” พูดแล้วอย่าคืนคำยังไงก็เชื่อว่าลูกค้าไม่ทิ้งเราแน่นอน ซึ่งแนวทางทั้งหมดที่เล่าให้ฟังต้องยกความดีให้คุณวิกรม เพราะเขาคือเจ้าของไอเดียนี้

“ผมยอมรับเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยได้นะ ทุกคนก็ทุกข์เหมือนๆ กันหมด แต่รับเรื่องประท้วงแบบไม่มีกฎกติกาไม่ได้ ถ้าเมืองไทยยังสาดโคลนใส่กันแบบนี้ธุรกิจต้นน้ำอย่างเราต้องเหนื่อยไปอีก นาน”

นอกจากนี้ วิบูลย์ ยังขอระบายว่า น้อยใจนักลงทุนช่วงที่ดีไม่เห็นมีใครมาชื่นชม พอบริษัทลำบากมีแต่คนตั้งคำถามสารพัด เช่น ทำไม! ไม่ทำงาน “เซอร์วิส” (หาเงิน) ให้มากขึ้น อยากถามกลับหน่อยถ้ามันขายที่ดินไม่ได้แล้วจะขายระบบสาธารณูปโภคให้กับใคร

“ถามว่าปี 2552 เราจะมีข้าวกินหรือไม่..ผมตอบเลย เรายังพอมี “บุญเก่า” ให้เก็บกินไปพลางๆ รายได้มาจากบริษัทในเครือ เช่น อมตะ วอเตอร์ ขายน้ำในนิคม อมตะ เพาเวอร์ ขายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ และอมตะ-ซัมมิท เรดดี้ บิลท์ ที่สร้างโรงงานสำเร็จรูปขายและให้เช่า เป็นต้น”

แต่ถ้า “โชคดี” ลูกค้าขนาดกลาง 5-6 ราย ที่เคยเจรจาขายที่ดินกันมาไม่ต่ำกว่า 5 รอบ จำนวน 50 ไร่ อาจได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ และในปีนี้ จะพยายามขายที่ดินติดถนนให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการลดราคาค่าเช่าโรงงานให้ลูกค้า 3-10% อาจทำให้มีคนสนใจเช่าโรงงานมากขึ้น

“ผมและคุณวิกรมอยากฝากบอกนักลงทุนว่า อมตะไม่คิดจะเดินนอกกรอบ (ที่เชี่ยวชาญ) อย่างเด็ดขาด เพราะมันเป็นเรื่องอันตรายมากๆ เราถือคติว่า “รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว” แต่หากวันไหนสนใจทำธุรกิจที่ไม่ถนัด เราจะหาคนมาทำแทนเหมือนที่ไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้า เราถือหุ้นเพียง 13.77% เท่านั้น แม้จะรับกำไรน้อยแต่ก็ยังดีกว่าทุ่มทั้งตัว..เราตัวใหญ่ (มีชื่อเสียง) เวลาล้มมันดังนะคุณ”

น้องชายเถ้าแก่วิกรม บอกว่า ที่เล่าให้ฟังไม่ได้มีนัยอะไรหรือมีเจตนาจะสร้างราคาหุ้น แต่อยากบอกนักลงทุนว่าในขณะที่ทางเดิน “มืดมน” มันก็ยังพอมี “แสงสว่างรำไร” อยู่บ้าง หากเศรษฐกิจถดถอยยาว 2-3 ปี เป้าหมาย 1,000 โรงงาน ภายในปี 2554 คงไม่เกิดขึ้น จากปัจจุบันมีโรงงานอยู่ในมือราวๆ 600 โรง

วิบูลย์ ทำนายว่า สถานการณ์เลวร้ายอาจพลิกผันกลับมาเร็วกว่าที่คาดภายใน 1 ปีครึ่ง เพราะรัฐบาลทั่วโลกพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมาก มนุษย์เมื่อมีเงินก็ต้องใช้..ถูกมั้ย!! (เงินก็ต้องหมุน) ทุกอย่างเป็นสัจธรรมเปรียบได้กับอมตะที่ต้องมีวันขึ้น-ลงเช่นกัน

“ถ้าวันหนึ่งเรื่องร้ายๆ ผ่านไปแล้ว เราก็มีโอกาสจะกลับมาเหมือนเดิม วันนี้เรายังเหลือที่ดินไว้ขายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 6,000-7,000 ไร่ และอมตะซิตี้อีก 4,500 ไร่”

เขากล่าวปิดท้ายว่า อมตะเคยผ่านวิกฤติเลวร้ายมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตอน “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” และ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ช่วงนั้นขายที่ดินไม่ได้แม้แต่แปลงเดียว แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ ฉะนั้นรอบนี้อมตะรู้วิธีบรรเทาทุกข์และมีความหวัง

เช่นเดียวกับฝันของชายที่ชื่อ วิกรม กรมดิษฐ์ ยังไม่จบฉันใด…อมตะก็ยังไม่สุดทางฝัน !!!

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์