ช่วงนี้ รายการเกี่ยวกับการตลาดที่น่าดูในวันศุกร์ อย่าง SME ตีแตก น่าจะจุดกระแสให้ชาวบ้าน คิดถึงเรื่องการมีกิจการของตนเองได้น่าสนใจดีนะครับ หลายๆคนที่ริจะมีกิจการของตัวเอง ก็เกิดประกายในใจ ที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ และเมื่อไรที่คิดว่าจะทำธุรกิจ อาจจะเดินเข้าไปหา ธ.กสิกร ด้วยอิทธิพลที่ตัวเองคุ้นเคย จากการดูรายการนี้จนคุ้นตาได้สูงในอนาคต
ในส่วนตัวหลังจากได้ชมรายการ ผมเห็นว่า “จุดอ่อน” ของรายการ คือ ส่วนใหญ่คนที่เสนอตัวเข้ามานำเสนอนั้น มักจะเป็น SME มือใหม่ที่อาจไม่ได้มาจากสายการตลาดโดยตรง เพียงแต่ตัวเองมีจุดแข็งบางจุดที่เป็นตัวชู มีความกล้า มีความมั่นใจสูง
ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการทำธุรกิจ การนำเสนอของ SME เหล่านี้ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นช่องว่างทางการตลาดอย่างครอบคลุม หรือปิดช่องโหว่ของตัวเองให้ธุรกิจตนเองเกิดความเข้มแข็งได้จนสามารถรุกไปข้างหน้าได้อย่างจริงจังหนักแน่นและมีจังหวะจะโคนที่รัดกุมในสายตาของนักการตลาดได้ง่ายๆ
..
“หนึ่งสมองสองมือ และความตั้งใจ บางครั้งก็ไม่พอมือเสมอไปสำหรับกรรมการ เพราะยังไม่ตอบสิ่งที่กรรมการเห็นว่าสำคัญ แต่ก็เป็นเหตุผลที่คนดูน่าจะรับได้ เพราะนั่นหมายถึงว่าคนนำเสนอยังโจทย์ไม่แตก”
..
การขาดประสบการณ์ธุรกิจในด้านการตลาด พูดง่ายๆระหว่างมวยวัด กับมวยอาชีพ คนปกติที่หันมาจับทำธุรกิจนั้นจึงยากที่จะอ่านทะลุเกมที่ตัวเองเล่นแบบอ่านขาด
เกมโชว์ SME ตีแตกช่วยกระทุ้งข้อนี้ ว่าธุรกิจของจริงมันสาหัสกว่าสนามบนเวทีมากมาย ถ้ายังตอบโจทย์ไม่ตรง มันก็ไม่แตก ดังนั้นเวทีนี้ใครกล้าใครมั่นใจก็ขึ้นไปดวลกับวิสัยทัศน์ของกรรมการดูให้คนดูลุ้นและชม แน่นอนว่า 2 เทปที่ผ่านมาเรียกได้ว่ามีช่องให้กรรมสับเป็นโจ๊กทั้งคู่ ด้วยเหตุผลอย่างที่บอก
แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้บอกว่าธุรกิจของเขาไปไม่ได้ และไม่มีโอกาสเติบโต เพียงแต่ตอนนี้ เขายังตีโจทย์ไม่แตกเท่านั้น
ที่จริงพูดง่ายๆว่ามันแตกไม่แตก ก็ตั้งแต่จุดเริ่มของเป้าหมายที่เขาคิด หรือตั้งเป้าให้กรรมการดูนั่นแหละครับ ถ้ามองข้ามข้อนี้มันก็ไม่แตกตั้งแต่ต้น
กรรมการเอง แค่ทำหน้าที่ไปเคาะให้มันเห็นศักยภาพความเป็นไปได้ตามเป้าและเหตุผลประกอบที่เขาคิด
จุดแข็งยืนพื้นของรายการนี้ อยู่ที่วิธีการนำเสนอ ที่จุดประกายความคิดริเริ่มธุรกิจของตนเอง การเล่าเรื่องของทีมงาน และพิธีกรมืออาชีพที่รู้จักจังหวะดึงอารมณ์ ยื้อความตื่นเต้นอย่างคุณปัญญา ดังจะเห็นได้ว่าเวลาจะตัดสินว่าแตกไม่แตก คุณปัญญาจะยั้งไม่ให้กรรมการรีบเฉลยผลลัพธ์ แต่ยื้อจังหวะให้ลุ้นทอดเวลาที่รอคอยผล ด้วยหัวใจระทึกสำหรับผู้ชมและคนที่รอคอย ด้วยลีลาอย่างจัดจ้านในจังหวะจะโคน
ที่จริงแล้ว จุดที่ในอนาคตจะเป็นจุดแข็งได้อีกในแง่ของการติดตามชมก็คือ
วิธีวิพากษ์และสรุปของกรรมการแต่ละท่าน ว่าจะชี้ประเด็นขนาดเคาะกระโหลกคนดูและ SME ผู้เสนอตัว แบบกระชากมุมมอง เปิดจุดที่มองข้ามของธุรกิจและเป็นกุญแจของความสำเร็จผัวะผาด และด้วยลีลาแบบไหนที่ ถึงใจคนดูขนาดร้องอูย..โอวว หรือเฮ้ยมองข้ามไปได้ยังไง ถึงกับบอกกับตัวเองในขณะดูได้ว่า โอวว..อย่างนี้สินะที่เรียกว่า “ตีแตก” ยิ่งชี้โจทย์ที่เขาควรตีแตกให้เป็นวิทยาทานผู้ดู และผู้นำเสนอได้แจ่มชัดยิ่งดีมีสาระประโยชน์
ซึ่งถ้าแบะออกมาได้ขนาดนี้ คนติดแน่ๆ รวมทั้งคนที่มาเป็นกรรมการ
ก็จะได้รับการยอมรับนับถือจากคนดู ในความคม และอ่านทะลุ และเป็นกรรมการที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดตัวจริง จนคนดูต้องยอมรับ แต่ก็คงไม่ง่ายเหมือนกันเพราะคนที่อ่านขาดในการตลาด กับความสามารถในการพูดนำเสนอเป็นคนละเรื่องกัน
ที่อยากให้พูดมากขึ้น คือ กรรมการที่เป็นตัวแทนของธนาคารกสิกร อย่างคุณทวี ธีระสุนทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกร
จุดแข็งในเรื่องประสบการณ์ที่ได้เห็นธุรกิจ SME มากมายผ่านตาทั้งเกิดและดับ ซึ่งเป็นความรู้และประสบการณ์ข้นๆ
แทบจะบอกได้ว่า ในแง่พื้นฐานของกิจการ SME แค่เห็นตัวแปรที่มีในมือก็บอกแววได้ว่ารุ่งหรือรอด
ดังนั้นถ้าสามารถขยายประสบการณ์ที่มีเอามาเล่าให้คนดูได้ฟังมากกว่านี้จะเป็นประโยชน์มาก
ส่วนกรรมการที่มีเสน่ห์ที่สุดตอนนี้ ยังเป็น อ.ธันยวัชร์
การยิงคำถามแบบไม่เกรงใจตรงประเด็นลึกที่สำคัญๆเป็นหัวใจสำคัญ
และที่สำคัญลีลาที่จะสรุปว่าแตกไม่แตก ผมว่าท่า อ.แกได้ที่แล้ว คือมันชวนให้ลุ้น และจำแกได้ถนัดถนี่
ความเคี่ยวของกรรมการ 2 ท่านนี้ จำเป็นต้องมีตัวแปรที่เป็นตัวช่วยสำหรับ SME มือใหม่บ้าง ไม่งั้นมันจะโหดและข้น จนกระทั่งลุ้นไม่ออกได้ กรรมการคนที่ 3 จึงเป็นตัวยืดหยุ่นที่สำคัญ
เหนื่อยสุดในบทบาทกรรมการอาทิตย์นี้ คงเป็นคุณ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ แกเป็นตัวแทน SME รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้คนหนึ่งนะ รวมทั้งในแง่ประเด็นไอทีแล้ว กระแสตอนนี้จ๊าดสุดในแวดวง สำหรับวิเคราะห์ Ilikedate.com และ Dr.Date แล้ว คุณหนุ่มเหมาะมาก ผมชอบลีลายิงคำถามคุณหนุ่ยนะ รุกและเกาะเรื่อง ยียวนแต่เข้าประเด็น
มีจุดที่คุณหนุ่ยโดนวิพากษ์จากบางคนบ้างในวันศุกร์ที่ผ่านมา เชื่อว่าน่าจะเพราะคุณหนุ่ยคิดเผื่อไปถึงความสนุกของเกมด้วย
และน่าจะมองออกว่า กรรมการทั้งสามคนรวมทั้งตัวคุณหนุ่ยเองน่าจะไม่ให้แตก แต่เกมคงกร่อยไปหน่อยถ้ามันไม่มีลุ้น
จึงยืดหยุ่นให้คะแนนช่วยขึ้นอีกนิดให้ได้ลุ้นกันมั่ง
แต่ตัวแปรข้อนี้ อาจเป็นดาบสองคมได้เหมือนกัน เพราะคนดูสามารถมองเห็นได้ต่างมุมระหว่างการยืนในจุดยืนการตัดสินด้วยความเห็นของตัวเองอย่างชัดเจนไปเลยตามเนื้อผ้า กับความยืดหยุ่นเล็กๆที่ทำให้เกมลุ้น สำคัญขึ้นอยู่กับเหตุผลของกรรมการที่จะทำให้คนดูยอมรับได้ ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นกรรมการคนที่ 3 ก็คงอารมณ์ไม่ต่างกับคุณหนุ่ยเท่าไหร่
คำถามก็คือว่าจะยืดหยุ่นให้สนุกขึ้น หรือตัดบทจบม้วนตั้งแต่กรรมการคนทีสอง
และคำถามแย้งก็คือ กรรมการที่ตอบคนที่ 2 จำเป็นจะต้องยืดหยุ่นไหม ที่จะลงดาบหรือไม่ลงดาบ
เพื่อให้ไปลุ้นที่กรรมการคนที่ส าม
และถ้าลงดาบตั้งแต่กรรมการคนที่สองจะทำให้คนดูรู้สึกว่าเกมนี้โคตรโหดหรือเปล่า
ก็ไม่มีคำตอบไหนที่ถูกต้องหรอกครับ
ตามจริง คำถามพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีคนตอบ
เพราะเหตุผลสุดท้ายย่อมเป็นสิทธิ์ของผู้เป็นกรรมการเอง ว่าจะเลือกอย่างไร
การตัดสินไม่ว่าจะเป็นไปทางไหน ตัวกรรมการที่สรุป ย่อมพร้อมจะรับผลสะท้อนของการตัดสินนั้น อย่างเต็มสองอก
อย่างไรก็ตาม รายการ SME ตีแตก ก็เป็นรายการการตลาดที่ดูง่าย น่าสนใจ
ก่อเกิดคำถามและชักชวนให้คนดูขบคิดถึงเหตุผลความสำเร็จของแนวคิดธุรกิจ
ที่จะต้องทำการบ้านและอ่านโจทย์ให้ออก
รายการแบบนี้ในบ้านเรามีน้อย และถ้าเอามาจับมาคุย มาถกมาวิเคราะห์
แลกเปลี่ยนทัศนะด้วยประสบการณ์ของแต่ละคนที่ชอบเรื่องการตลาด
ยิ่งถ้าเอามาคุยได้ขนาดตีแตก ยิ่งแจ่ม เพราะยกเคสมาถกได้ถึงน้ำถึงเนื้อ
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อยากเขียนถึงครับ เป็น case study ยิ่งดี
เดี๋ยวจะมาต่อตอนวิเคราะห์เจาะสนุกๆ เพลินๆประสาคนชอบเรื่องนี้ครับ
G®anun
ที่จริงแล้วธุรกิจแนวจับคู่ จุดสำคัญอยู่ที่ความไว้วางใจ
และความขึ้นชื่อฝีมือในการจับคู่คนที่แมทกันนะครับ
ตาถึง มองคนออก จับคู่คนแม่น เป็นคุณสมบัติของพ่อสื่อแม่สื่อทุกยุคทุกสมัย
และอาชีพนี้ที่จริงมีมานานแล้วในสังคมทุกชาติ
เหตุผลสำคัญเพราะคนที่ทำงานในสมัยนี้หมกหมุ่นกับความก้าวหน้าในการทำงานมาก
และมีเวลาที่จะไปพบเพศตรงข้ามที่คุณสมบัติตามที่อยากได้น้อยลง
การที่มีคนทำหน้าที่เชื่อมต่อเป็นคนกลางในการแนะนำคนที่ตรงกับเสปค
มีนิสัยใจคอ รสนิยมที่เข้ากัน เป็นความสามารถเฉพาะทางแบบหนึ่ง
ที่คนมักเชื่อถือในตัวบุคคลสูง
ถ้าลงตัวเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการจนเป็นตัวอย่าง
ในที่สุดก็จะมีคนที่เชื่อมั่นมาใช้บริการมากขึ้น
ที่จริงคำถามที่กรรมการยิง ถ้าจับประเด็นถูกก็ตีแตก
เพราะแต่ละคำถามถ้าตอบได้ก็ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
เช่น เรื่องของความฉาบฉวยของหน้าตา
เป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่เรื่องของคนที่กำลังมองหาคนที่มีคุณสมบัติของครอบครัวหรือตั้งใจจะมีครอบครัวที่อบอุ่นเสมอไป
ยิ่งถ้าเน้นค้นหาคนที่คิดและตั้งใจจะสร้างครอบครัวจริงมาเจอกัน
ไม่เสียเวลาลองผิดลองถูกไปกับกลุ่มที่คบหาฉาบฉวยได้
คัดคนที่ไม่ตรงเสปคออกไปได้
ถ้าแยกแยะเรื่องความฉาบฉวยของหน้าตาออกไป
ก้จะเหลือแต่แก่นของความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตกับคนที่เข้ากันได้ไปจนแก่จนเฒ่า
เป้นต้น
G®anun
สำหรับ Dr.date เหตุผลสำคัญที่ไม่ผ่าน อยู่ที่มัน “ลอย” จับไม่ติด
และไม่เลือกนำเสนอในประเด็นที่เป็นรูปธรรม ที่มีเหตุผลความเป็นจริงสนับสนุน
เช่น ระบบการจัดการสมาชิกที่เป็นลูกค้าทั้งของเดิม 5000 คน
และแสดงถึงความสามารถในการรองรับจำนวนของสมาชิกที่ตั้งเป้าเพิ่ม
ซึ่งจะสะท้อนศักยภาพการจัดการจับคู่ ตามกลุ่มความสนใจ การจัด segment
เช่น รสนิยม ความชอบที่คล้ายกัน จุดร่วมที่สอดคล้องกันทางความคิด
อย่างน้อยก็เอามาแสดงกลไกการเก็บข้อมูลพื้นฐานได้ และทำให้เห็นความสำเร็จที่ผ่านมา
ก่อนที่จะชักนำทุกคนไปสู่เป้าที่ตัวเองกำหนด (นี่เอามาโชว์แค่คู่เดียวจาก 5 พันคน ?)
เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการค้นข้อมูลของสมาชิกที่มีประสิทธิภาพ
ไม่อย่างนั้นก็ยังมองไม่ออกว่าการบริหารการจัดการรองรับสมาชิกถึง 5000 คน
จะทำได้อย่างไร ? และจะรองรับคนที่เพิ่มถึง 20000 คนได้อย่างไร ?
องค์ประกอบความสำเร็จที่จะทำให้คนตัดสินใจแต่งงานกันตามเป้า
เป็นโจทย์สำคัญ ที่จริงควรประเมินจากของเดิมก่อนว่า
ในระยะเวลาที่ผ่านมา 5000 คน แต่งงานไปแล้วกี่คู่
และเพิ่มตามอัตราส่วนที่เกิดขึ้นมากกว่าตั้งเป้าแบบตัวเลขที่ปราศจากความเป็นได้รองรับ
ถ้าสร้างคู่รักได้ 365 คู่และคู่แต่งงาน 12 คู่ เดือนละคู่ ยังไม่ง่ายเลยครับ แต่ยังเป็นไปได้มากกว่า
การตั้งเป้าที่จะทำให้ลูกค้าได้แต่งงานวันละคู่ จำนวน 365 คู่ที่จะแต่งงานใน 1 ปี
ทั้งที่ธุรกิจจับคู่มีศักยภาพทำได้จริง
แต่คนนำเสนอไม่สามารถนำจุดเด่นเหล่านั้นมาแสดงให้เห็นได้เลย