“ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายเรื่องใดให้เด็ก 6 ขวบเข้าใจแล้วล่ะก็ คุณคงไม่เข้าใจเรื่องนั้นซะเอง” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เป็นคำกล่าวที่ทำให้ผู้ฟังต้องทบทวนตัวเองได้ดีจริงๆครับ..
ผมเคยคุยกับแฟนเวลาที่เขาสอนการบ้าน ลูก ว่า…
“สิ่งที่ผู้ใหญ่จะต้องต่อสู้เอาชนะคือความอยากให้ลูกตอบได้ดังใจตัวเอง กับการยอมรับตัวเองว่านี่คือการ สอนการบ้านลูก !!”

ถ้าผู้ใหญ่เอาชนะใจและอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จะไม่สามารถเรียบเรียงสิ่งที่จะต้องอธิบายให้เด็กฟังรู้เรื่อง เพราะติดกับดักของตัวเองไปก่อนเรียบร้อยแล้ว ก็ถ้าจะเอาอารมณ์ให้ได้ดั่งใจตัวเอง โดยเฉพาะมโนภาพที่คาดหวังว่าพอสอนอะไรไปปุ๊บลูกเข้าใจปั๊บ ก็เรียบร้อยครับเพราะความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น และผู้ใหญ่ก็ต้องมีความอดทน ย้ำสอนย้ำบอกไม่รู้เบื่อ และรู้จักสังเกตสังกาบ้างว่าไอ้วิธีการที่ตัวเองอธิบายนั้นมันห่วยแตกหรือเปล่าเขาถึงไม่เข้าใจ ควรจะมีกสโลบายอะไรหรือเปล่าที่ทำให้เขาสนใจและเข้าใจง่ายๆขึ้น ไม่ใช่ฉันจะสอนแบบนี้และแกต้องเข้าใจ (เอิ๊ก)

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่เขาได้เติบโตอย่างที่เป็นเขา ไม่ใช่ดั่งใจเรา
ดังนั้นการสอนเด็กๆ หรือลูกของเราต้องยืนบนพื้นฐานของเขาที่เราจะต้องหาความสนใจของเขา หาช่องทางอธิบายในมุมที่เขาเข้าใจ และไม่รีบไปโมโหเขาถ้าเราอธิบายในมุมของเรา แล้วเขาไม่เข้าใจ

เด็กๆในบ้านเราเป็นถุงใบใหญ่ที่เราจะจำกัดกรอบในการเติบโตเรียนรู้ ดังนั้นต้องรู้ว่าต้นไม้ต้นนี้จะงอกไปทางใดและคอยค้ำยันและใส่ปุ๋ยให้เขาโตขึ้นได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไปดัดแล้วดัดอีกให้เติบโตตามใจเรา แล้วเวลาที่ไม่มีเราอยู่เขาจะไปตามใจใครครับ เมื่อเลี้ยงมาอยู่ในกรอบให้ต้องตามใจใครสักคนอยู่ตลอดเวลา

ผมคุยกับแฟนว่า จะขอเวลาให้ลูกเรา 10 ปีในระหว่างโต เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาต้องการเรามากที่สุด ต่อจากนั้นเขาก็จะเริ่มต้องเปิดตัวเองเข้าสู่สังคมของเขาต่อ ขอแค่พอมีพอกิน ได้มีเวลาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้มากที่สุด นั่นจะเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดทั้งสำหรับลูกของเรา และตัวเราเอง

พูดง่ายๆว่าถ้าตัดสินมีลูกแล้ว มันต้องตามพร้อมกับความรับผิดชอบที่มีต่อชีวิตเขาให้มากที่สุด

ไม่ง่ายเลยครับที่จะแบ่งภาคทำทุกอย่างได้ทั้งหมด มันต้องเลือกหลายๆอย่าง

ถ้าต้องการมีเวลาให้กับลูกมากขึ้น ในขณะที่งานเท่าเดิม ก็แปลว่ามันจะต้องไปเบียดช่วงอื่นลง

แม้กระทั่งเวลาพักผ่อน เที่ยว กิน เฮฮาเพื่อนฝูง สังสรรค์ ที่เราเคยมี

แต่ถ้าคุณมีลูก มันน่าจะเป็นหน้าที่ของคุณไม่ใช่หรือ..