อาทิตย์นี้ ถ้าไม่นับย้อนหลังที่กินไป 1 เบรค กับ”โฆษณาทำผม”ตอนท้ายแล้ว
อาทิตย์นี้ ผมให้ 9 เต็ม 10 ครับ
(อันหลังนี่ผมจะแกล้งลืมไปนะครับ ถือว่าไม่ทันหันไปดูช่วงนี้แล้วกัน)
สนุกครับอาทิตย์นี้
ผมเชื่อว่ารายการเริ่มมาถูกทางแล้ว แทนที่จะเล่าเรื่องอย่างเดียว
การหันมาเล่นตัดต่อคำพูดของผู้เล่น ช่วยสื่ออารมณ์ร่วมให้แก่คนดูได้เยอะขึ้น
และทำให้น่าติดตาม
นอกจากนั้นยังช่วยให้คนดูจดจำคาแรกเตอร์ของแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้น
ปิดช่องว่างของอาทิตย์ก่อนๆที่คนมักจะไม่ค่อยได้ยลบุคลิกส่วนตัวของแต่ละคน
การแสดงความคิดเห็นของผู้เล่นเกม ถ่ายทอดเรื่องราวทางอ้อมได้มากครับ
(น่าเสียดายที่อาทิตย์นี้ไม่ได้เห็นหน้านุ้ย กับเพรมเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าใช้ได้ครับ บรรยากาศน่าติดตามขึ้นเยอะ)
การจับทางได้มีส่วนสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรายการ และผมเชื่อว่าน่าจะเข้ารูปเข้ารอยขึ้นเรื่อยๆ
และอาทิตย์นี้ คนตัดต่อน่าจะเล่นกับคนดูสนุกที่สุด มากกว่ากรรมการและผู้เล่นเสียอีก
สำหรับอาทิตย์นี้ การคัดเลือกทีม กรรมการใช้วิธีสุ่ม ซึ่งคนดูน่าจะพอใจ
เพราะเหมือนมันอยู่ที่ดวงว่าใครจะอยู่กับใคร
มีได้เปรียบเสียเปรียบเล็กน้อย เพราะ 5 ต่อ 4 แต่ก็ไม่ถือเป็นแต้มต่ออะไรมาก
เพราะอาทิตย์ที่แล้ว ก็ 5 ต่อ 4 เหมือนกัน (เพราะน้องนิ้นไม่สบายเข้าโรงพยาบาลเสียก่อน)
การแข่งขันอาทิตย์นี้ ดูเหมือนการโฆษณาและการตลาดจะแยกจากกันไม่ออก เพราะมันควบคู่กันไปเสมอ และที่จริงโฆษณานั้น สื่อให้คนดูเข้าใจได้ง่ายมากกว่าการตลาด
ความเชื่อมั่นในทีมที่มีต่อเอก ส่งผลให้ทีม 1 ที่มีเอกเป็นตัวหลัก แถมด้วยคนที่เข้าทีมสามารถร่วมมือกันได้อย่างกลมกลืน ด้วยการแสดงออกถึงความร่วมมือที่ดี (ตามภาพที่ได้ดู) ผ่านในเรื่องของการประสานงาน
ในขณะที่ทีมสอง ซึ่งแต่ละคนต่างมีดีของตัวเอง และคิดว่าตัวเองมีความสามารถ กลับประสานกันได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หวานในฐานะของผู้เสนอตัวทำงานเป็นลีดเดอร์ ดูจะกลายเป็นเป้าในการโหวตไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะการประสานคนที่มีอีโก้สูงๆเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกคนในทีมแสดงออกชัดเจนว่าฉันเก่ง และเก่งเกินทีม (แล้วทำไมไม่ขอเป็น leader ตั้งแต่แรก นั่นคือคำถาม)
อาทิตย์นี้ การวินิจฉัยของกรรมการ ทำให้ผมยอมรับอย่างยิ่ง เพราะเป็น case study ที่ควรสอนเด็กใหม่ๆที่มีความสามารถสูง ให้เข้าใจกับการทำงานเป็น “ทีม”อย่างยิ่ง
สิ่งนั้นคืออะไร
สิ่งนั้น คือ “สติ” ครับ
ประเด็นหลักที่ทุกคนจะต้องโฟกัสจริงๆ ต้องอยู่ที่งาน ไม่ใช่อยู่ที่คน
ถ้าทีมไม่สนับสนุนลีดเดอร์อย่างเต็มที่ และมัวแต่เชื่อว่าตัวเองเก่ง และทะนงว่าตนเองมีความสามารถ
และคิดว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นของหัวหน้าทีมคนเดียวเท่านั้น
(ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆในประเทศไทย)
นั่นหมายถึงเรื่องที่พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งในองค์กร และเป็นเรื่องใหญ่ของระบบทีเดียว
จุดแตกต่าง คือ เมื่อหวานเสนอตัวเป็น Leader แล้วถ้าทุกคนในทีมไม่เชื่อมั่นในตัวหวาน
และถ้าเราตั้งใจมองประเด็นของการแข่งขันเป็นหลัก
คำถาม คือ แล้วถ้าคุณไม่คิดว่ามันดีที่สุดสำหรับทีมแล้ว
คุณจะปล่อยให้หวานคุมทีมทำไม
ในเมื่อคุณเลือกได้ และมีสิทธิที่จะทำได้
และควรจะตระหนักว่าประเด็นสำคัญที่สุดในทีมที่จะต้องแข่งขันกับทีมหนึ่ง คืออะไร
เคสนี้ มีทางเลือกอย่างน้อย 2 วิธีการ ในจุดเริ่มต้น คือ
(1) ทุกคนมีหน้าที่ ที่จะสรุป Leader ของกลุ่ม โดยลงมติเลือกคนที่ทีมคิดว่าเหมาะสมที่สุด
โดยการเปิดอกเลือกหาเหตุผลว่า ใครคือคนที่เหมาะสมสำหรับภารกิจนี้ที่สุด
และถ้าไม่มั่นใจหวาน สามารถอธิบายตรงๆ พูดดีดีกับหวานตรงๆ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดของทีม
เพราะความคิดเห็นของส่วนรวมนั้น ย่อมตัดสินชะตากรรมของทีม
และต้องตระหนักว่าชะตากรรมของทีมนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของทุกคน
ไม่สามารถโยนไปให้ใครได้ ถ้าหากปล่อยให้อะไรเกิดขึ้นโดยนิ่งเฉยและไม่แก้ไข
ในข้อนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กร
และประสิทธิภาพการทำงานของทีมที่จะลดลง ทั้งที่ไม่น่าเกิดขึ้น
ถ้าคนในองค์กรนิ่งเฉย ละเลย หรือเมินที่จะปฏิบัติ
โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องของตนเองที่มีหน้าที่จะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในองค์กร
(นับถอยหลังเหมือนในเกมได้เลยใช่ไหมครับ)
(2) แต่ถ้าทุกคนยินยอมที่ให้หวานขึ้นเป็นหัวหน้าทีม
ทั้งที่ตัวเองไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ
ทุกคนต้องตระหนักในส่วนของความรับผิดชอบ “ของตน” ในทีมด้วยว่า
ตนเองปล่อยให้มันเกิดขึ้น ทั้งๆที่รู้
และไม่สามารถโทษใครได้ เพราะถ้าไม่ปล่อยให้เป็นแบบนั้นก็ทำได้ และไม่ควรโทษว่าเป็นความผิดของหวานถ่ายเดียว การเสนอชื่อสะท้อนอะไรให้เห็นบ้าง ผมเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์ตลาดมองแล้วเข้าใจ
ค่านิยมและทัศนคติการโยนความผิดแบบง่ายๆ
โดยไม่ตระหนักว่าตนเองมีส่วนความรับผิดชอบให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับองค์กรมากๆครับ
คำว่าเตือนแล้วไม่ฟัง เป็นคำตอบที่น่าแปลก เพราะคะแนนเสียง 3 ต่อ 1 นิ่งเฉยได้อย่างไรกับอนาคตของทีมที่นับถอยหลังตั้งแต่วินาทีแรก
ที่ตัวเองละเลยในสิ่งที่ควรทำสำหรับทีม
เพราะฉะนั้นเคสนี้ จึงนำเอามาสอนคนรุ่นใหม่
ให้ตระหนักกฏที่มองไม่เห็นของการทำงานองค์กรข้อนึงก็คือ
การตระหนักในความรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง และบทบาทที่ตัวเองจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายๆสิ่งในองค์กรเกิดขึ้น เพราะการนิ่งเฉยและรอซ้ำเติมของการเมืองในบริษัท
ทำไมองค์กรถึงหลีกเลี่ยงเรื่องนี้มาก
เพราะเรื่องแบบนี้ทำให้เกิดเกมการเมืองในบริษัทมากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพของทีม
และไม่เคยให้อะไรกับบริษัทมากกว่าความสูญเสีย ไม่ว่าจะมากหรือน้อย
นี่คือส่วนสำคัญที่กรรมการได้สอนคุณค่าและมุมมองสำคัญขององค์กรแก่ผู้เล่น
และผมรู้สึกประทับใจมาก เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่จะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีเคสตัวอย่าง
สำหรับหยิบยกเอามาเล่าแบบนี้ให้เพื่อนๆน้องๆ
หวานเองอาจมีข้อผิดพลาดที่รีบร้อนเสนอตัวเองในการนำทีมในด้านที่ตัวเองไม่ถนัด
ทำให้เกิดการต่อต้านในใจของคนในทีม แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดที่หนักหนาขนาดถูกเสนอชื่อ
่การนำทีม บางครั้งไม่ใช่เรื่องของความเก่งในเรื่องเฉพาะเรื่อง แต่อยู่ที่การบริหารการจัดการคนในทีม
และดึงความสามารถของคนในทีมออกมาใช้ได้เต็มที่
ปัญหาก็คือแรงชักคะเย่อทางจิตวิทยาที่ถ่วงประสิทธิภาพของทีม
ดังนั้น ถ้าหวานถอยออกมาจากแรงกดดัน หวานจะรู้ว่าที่หวานต้องจัดการคลี่คลายด้วยกุสโลบาย ในฐานะ leader
มีความสำคัญต่อการตั้ง direction ของทีมให้เกิดประสิทธิภาพได้มาก ผู้นำทีมก็ต้องมีลูกล่อลูกชนเหมือนกัน
ชี้นำให้หันหน้าไปทางเดียวกันได้ คนอื่นๆก็จะมุ่งมั่นในการแข่งขัน
สิ่งที่ต้องตระหนักและถอนตัวจากเกมที่ลดประสิทธิภาพของทีมนี่แหละสำคัญ
การที่นึกว่าตัวเองเก่งและสำคัญ แต่ลืมหลักคือ ทีม และการร่วมมือเพื่อเป้าหมาย
ต้องนึกให้ได้ว่าเรากำลังเข้าวงจรอันตรายที่ไม่เกิดผลดีกับใครในทีมแล้ว และถอยออกมาก้าวหนึ่ง
ในเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว และปล่อยให้หวานนำทีมแล้ว ถ้าทุกคนถวายหัวให้ทีมอย่างเต็มที่เพื่อเป็นกลไกของทีม
ถ้าทุกคนอุทิศตนเองเป็นกลไกของทีมอย่างเต็มที่แล้ว แต่หวานไม่สามารถ manage ให้เกิดประสิทธิภาพได้ แบบนั้นจะต่างออกไปอีกผลลัพธ์หนึ่งทันที
เพราะถ้าทุกอย่างพร้อมในมือผู้นำทีม แต่ผู้นำไม่สามารถที่จะใช้ความสามารถทุกคนให้เต็มที่ได้
นั่นเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและพิจารณตนเอง
ความต่างจึงอยู่ตรงนี้ คือ การรู้จักบทบาทของตนเอง
ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้ว มีหน้าที่สนับสนุนทีมให้สุดความสามารถ
ลูกทีมไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าหัวหน้าทีมแย่ และไม่ควรตัดสินตั้งแต่เริ่ม
เพราะไม่ใช่บทบาทของตนเองที่ควรทำ
การพิจารณาเป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีมเอง และผู้ที่พิจารณาหัวหน้าทีมโดยตรงตามลำดับ
ถ้ามี “สติ” เราจะตระหนักถึงความรับผิดชอบในส่วนของเรา ไม่โทษแต่คนอื่น
ถ้ามี “สติ” เราจะตระหนักถึงทิศทางที่ทีมกำลังไป และยืนหยัดดึงให้ทีมกลับมาในกระบวนการที่ควรจะเป็น
ถ้ามี “สติ” เราจะวินิจฉัยไปตามจุดอ่อนของทีม ปัญหาที่เกิดขึ้นในทีม ตามความเป็นจริง มอง”จริง” เห็น”จริง”
แต่ก็นั่นแหละสีสันของเทป 5 วันนี้ก็อยู่ที่ตรงนี้ เพราะทิศทางอารมณ์ของ 3 คน ทั้ง ต้นอ้อ พีค และแม้กระทั่ง ตี้ เองก็ยังหลุด
ความรู้สึกที่สื่อออกมา แสดงถึงความอึดอัดในการทำงาน อยู่ตลอดเวลา
ชี้ให้คนดูเห็นว่า ยังไง ชื่อของหวาน จะต้องแขวนอยู่บนแป้น หรือ ชื่อของหวานที่จะถูกใส่ลงไปในแฟ้มแน่นอนถ้าหากทีมแพ้
แต่มุมกลับถ้าทุกคนเทคะแนนไปที่หวาน และขาดเหตุผลที่จะแจ้งแล้ว ย่อมย้อนมาถึงวุฒิภาวะของผู้เสนอเอง ว่าขาดมุมมองในฐานะทีม
และนี่แหละคือความซับซ้อนของเกม เพราะคนดูย่อมคิดไม่ถึงแน่
การที่กรรมการออกมาเบรคแนวความคิดนี้ได้อย่างแจ่มชัดเป็นสิ่งสำคัญ และกระชากทุกคนให้กลับมามองในแง่เกมการตลาด และคงทำเอาทั้งตี้ พีค และต้นอ้อ ต้องอึ้ง รวมทั้งคนดูที่ยังตั้งหลักไม่ทันพลอยอึ้งๆไปด้วย จุดนี้เรียกว่า “กระชาก”
จุดกระชากตรงนี้ผมชอบมาก เพราะมันทำให้เกิดการจดจำ และเป็นการจดจำสิ่งที่เป็นประโยชน์
ที่จริงแล้ว ถ้าหากทั้ง 4 คน ในทีมสอง ไม่หมกมุ่นกับความรู้สึกไม่ยอมรับหวานจนเกินไปแล้ว
ในแง่ครีเอทีฟ ที่จริงแล้วผมให้ทีม 2 ครับ เพราะ สื่อกับ target ได้ตรงและชัดเจนกับโจทย์กว่า
แม้ในขณะที่ทีม 1 เอก นิ้น แคนดี้ เพรม นุ้ย ทำได้น่าประทับใจก็จริง แถมรู้จักใช้ sign สื่อความเป็นนักคิด
รวมถึง gimmick ในการเล่นกับโลโก้ ที่ผมประทับใจมาก ก็ตาม
เหตุผลจุดสำคัญคือ “เปปทีน” เป็นสินค้าใหม่
ที่ต้องการกระตุ้นพฤติกรรมให้เกิดการทดลองใช้สินค้า มากกว่าการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า
โฆษณาของทีมแรกชวนให้จดจำในแง่ภาพลักษณ์ได้ดี น่าสนใจ โดยเฉพาะการจดจำโลโก้ของสินค้า แต่ไม่สื่อถึงกับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทดลองใช้สินค้า
โฆษณาแบบนี้ดีกับสินค้าที่ต้องการตอกย้ำภาพลักษณ์อย่าง จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ หรือสินค้าที่ผ่านช่วงทดลองตลาดมาแล้วครับ
แต่สินค้าใหม่ต้องการอย่างมากในเรื่องของการทดลองใช้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ทดลองใช้ได้ง่ายอย่างเปปทีน
เพราะราคาไม่สูงเกินไปกับการตัดสินใจ และถ้าวางแผนจุดจำหน่ายรับโฆษณาดีดี รัดกุมแล้ว
ขาดแค่ตัวคะตะไลท์อีกนิดเดียวก็จบ
นึกถึงจุดยืนของ เปปทีน ไม่ออกขอให้นึกถึงเคสตัวอย่างของคาราบาวแดง
ที่ประสบความสำเร็จกับการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้ทดลองสินค้าได้สำเร็จใน 3 เดือนแรกก็แล้วกันครับ
เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่าที่จริง ทีม 2 มาถูกทางแล้ว แต่ติดไปติดเกมทางอารมณ์บั่นทอนความสามารถในการคิดอย่างน่าเสียดาย
ปัจจัยทางอารมณ์ที่ไม่แจ่มใสนัก ไม่ได้ช่วยอะไรทีม แถมบดบังความคิดดีดีไม่ให้ก่อเกิดซ้ำเข้าไปอีก
จุดที่ทำให้มองข้ามจุดที่จะสื่อให้โดนไป
ด้วยเหตุผลที่มัวแต่คิดโทษกันนั่นแหละ น่าเสียดาย
ที่จริงโจทย์ข้อนี้ ถ้าเน้นการกระตุ้นให้เกิดการอยากทดลองสินค้าใหม่ ซึ่งเห็นอยู่รำไรแล้วว่าไปถูกทาง
นี่สิผมว่า ตอบโจทย์หลัก เพราะสินค้าใหม่ ถ้ากระตุ้นให้คนทดลองสินค้าได้ และติดใจก็ถือว่าก้าวเกินไปอีกขั้น
ถ้าสติอยู่จะเห็นว่าเติมสีสันให้จดจำอีกนิดเท่านั้น จะแจ่มมาก
ปล. ผมยกตัวอย่าง ให้ลองย้อนนึกถึงภาพที่เอกกำลังดื่มอย่างอร่อยสิครับ ภาพดื่มเอื้อกๆ ภาพนั้น วินาทีนั้นใครนึกอยากลองชิมเปปทีนมั่ง ถ้านึกดีดีสั้นๆง่ายๆแค่นี้เอง
กระตุ้นอารมณ์คนดูให้อยากดื่มมั่ง เดินออกไปเจอสินค้าไม่ทดลองสักขวดผมว่าบ้าแล้ว
วกกลับมาที่ ตี้ เป็นคนที่น่าเสียดายในเกมทีเดียว
จุดหักเห สำคัญ ในทัศนะของผมมีข้อเดียว คือ จุดที่เขานั่งเป็นคนแรก ทำให้กรรมการยิงคำถามก่อนใคร
กับการไม่ตั้งสติในขณะที่กรรมการยิงคำถามกลับ แล้วตอบคำว่า “ก็ได้” ออกไปโดยไม่จำเป็น
อารมณ์นิดเดียวที่ทำให้ตี้หลุดจากเกม คือ ขาด “สติ” ช่วงเวลาไม่เกินสิบวินาทีหักเหเกมได้ขนาดนี้ และตัดสินชะตา ที่ถ้าผมเป็นกรรมการตัดสินก็ต้องตัดสินใจแบบนี้ เพราะมันไม่ได้เลยที่คุณกำลังคุยอยู่กับกรรมการวินาทีนั้น
คุณจะต้องตระหนักว่านี่คือวินาทีสำคัญ และหัวเลี้ยวหัวต่อที่คุณจะต้องรักษาอารมณ์และสภาวะจิตใจให้สมบูรณ์ที่สุด
และผมเชื่อว่า ถ้า ตี้ ไม่ตอบกรรมการออกไปว่า “ก็ได้”
มีเหตุผลน้อยที่สุดที่ตี้จะเป็นคนออกในเกมของวันนี้จริงๆครับ
บทเรียนที่สื่อในเกมนี้ จึงบ่งบอกได้ว่าความวู่วาม และการขาด “สติ” นั้น เป็นเรื่องสำคัญ
แม้แต่ ตี้ ที่ดูใจเย็นที่สุด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน เมื่อโดนกรรมการโยนคำถามก็ยังเผลอตอบโดยไม่ใช้ความคิด
นักการตลาดที่ถืองบเป็นสิบล้าน ถ้าขาดสติในการตัดสินใจ และใช้อารมณ์ตอบโจทย์จะเกิดอะไรขึ้น
แต่เนื่องจากตี้ยังหนุ่มอยู่และเป็นธรรมดาของคนรุ่นหนุ่ม ที่ใจเร็ว ปากเร็ว
และเป็นข้อเสียของช่วงวัยที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ ผมก็เชื่อว่าเขาคงจะเติบโตไปได้อีกไกลครับ
ถึงจะเป็นคนที่ 5 ที่ออกจากการแข่งขัน แต่ก็เชื่อว่าที่ผ่านมามีคนประทับใจเขาเยอะ
น่าเสียดายครับ และเชื่อว่าหลายๆ คนที่ตามเชียร์ ตี้ คงจะชอค และอดเสียดายไม่ได้ แต่นั่นก็ทำให้สีสันของเกมอาทิตย์ต่อไปยิ่งสนุก เมื่อทุกคนในเกมตระหนักว่า คนที่ออกอาจจะเป็นตนเองได้ทุกเมื่อ ไม่เกี่ยวกับสวย เก่ง แววดี ตัวเก็ง ใดใดทั้งสิ้น อย่าพลาดในห้องตัดสินแล้วกัน
(สร้างแรงกดดันดีครับ คนที่ทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดีเป็นบุคคลากรที่องค์กรต้องการ..แฮ่ม)
ปล. วินิจฉัยเหล่านี้มาจากความคิด และประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความคิดที่แท้จริงของรายการเสมอไป แต่หวังว่าจะเป็นความคิดเห็นที่เกิดประโยชน์ และเกิดผลดีกับทุกคนนะครับ ขอออกตัวไว้ก่อนนะเออ
………………………………………………………………………………………………………………………………..
เทปนี้เป็นเทปที่ดีที่สุดของรายการเกมกลยุทธ์เลยค่ะ ตั้งแต่เริ่มออกอากาศมา
กรรมการแต่ละท่านยิงคำถามได้ใจมาก
อ้อ ต้องขอชมทีมตัดต่อด้วยว่าพัฒนาได้ดีขึ้นมาก แม้ว่าจะยังมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่เชื่อว่า ประสบการณ์และเทปต่อๆ ไปจะทำได้ดีขึ้นอย่างมาก
ตั้งแต่เริ่มต้นรายการแล้ว ก็เดาแล้วว่าให้หยิบขวดเปปทีนเป็นการแบ่งทีมแบบสุ่มแน่ๆ พอแบ่งออกมา ก็ตกใจหน่อยๆ ที่เห็นแคนดี้กับเอกอยู่ทีมเดียวกัน แวบแรกคิดว่าทีมนี้น่าจะได้เปรียบอย่างแรง เพราะมีอดีต leader ที่นำชัยชนะมาทั้งหมด แต่อีกแวบหนึ่งก็หวั่นว่า เสือสองตัวจะอยู่ในถ้ำเดียวกันได้ไหม แล้วก็ให้แปลกใจอีกที่ทั้งเอกกับแคนดี้ รวมทั้งเพรมพ์ กับนุ้ย ลงมติเอกฉันท์ให้นิ้นเป็นหัวหน้า โดยเฉพาะเอกกับแคนดี้ ให้เหตุผลที่ดีมากๆ ในการยอมรับนิ้นให้เป็นหัวหน้า เห็นชัดว่าทีมนี้การทำงานเป็นทีมไปได้สวยเลย
แต่สำหรับทีมที่ 2 ก็ไม่ได้คิดว่าเสียเปรียบเท่าไรนะ เพราะมีทั้งตี้และพีคซึ่งเป็นคนที่ใครๆ ว่าจะเป็นตัวเก็ง ก็อยู่ในทีมด้วย แต่ทว่าตอนการเลือกหัวหน้าทีม กลับทำให้เรารู้สึกตะหงิดหน่อยๆ โดยเฉพาะตอนที่ต้นอ้อบอกว่า หวานให้เหตผลในการขันอาสาขึ้นเป็นหัวหน้าทีมว่า เพราะอาวุโสสุด…
.. คือ ตรงนี้น่ะ มันจี๊ดกับเรา เพราะครั้งหนึ่งที่ที่ทำงาน เคยมีคนขึ้นเป็นหัวหน้าทีมด้วยเหตุผลว่า เขาอายุมากสุด และเขาก็ทระนงที่ความอายุมากของเขา และไม่รับฟังความเห็นของคนที่อายุน้อยกว่าเขาเลย…
แล้วจากการที่ตี้ พีค ต้นอ้อ มาพูดถึงน้ำหวานในตอนหลังเลือกโปรเจคลีดเดอร์ โดยพูดถึงแต่จุดด้อย ทำให้เห็นแววการทำงานประสานกันในทีมว่ามีแนวโน้มประสานงากันแน่ๆ แต่ก็ให้สงสัยว่า ถ้าว่าน้ำหวานอ่อน แล้วเลือกเขาเป็นหัวหน้าทำไม? ตรงนี้ทีมตัดต่อรายการไม่ได้แสดงให้เห็น ก็เลยเป็นปัญหาให้คาใจหน่อยๆ อาจจะพอกล้อมแกล้มคิดได้ว่า ไม่มีใครกล้าพูดโต้แย้ง มัวแต่เกรงอกเกรงใจกันจนเสียงาน
ที่จริง ผลงานที่ออกมาน่ะ ในสายตาเรา ทีมที่ 1 นำเสนอดี แต่สอบตกในเรื่องของการตอบโจทย์ลูกค้า.. งานสปอทโฆษณาของทีมที่ 1 น่ะสวยนะ ดูดีมีสไตล์ แต่ไม่ได้บอกเลยว่าเปปทีนคืออะไร เปปทีนใช้ยังไง แล้วเปปทีนเหมาะกับลูกค้ากลุ่มไหน? แต่เราไม่แน่ใจว่า แผนงานการตลาดของทีมที่ 1 เป็นอย่างไร เพราะทีมตัดต่อไม่ได้แสดงส่วนนี้ อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาด้วยล่ะมั้ง แต่เสียงจากกรรมการลีโอ เบอร์เนทท์ ทำให้เชื่อได้ว่า แผนการตลาดของทีมที่ 1 น่าจะมาอุดจุดอ่อน และตอบโจทย์ที่สปอทโฆษณาไม่ได้สื่อไว้ได้
ขณะที่ทีมที่ 2 ตัวสปอทโฆษณาตอบโจทย์ลูกค้าได้ชัดเจน ทำให้คนดูรู้เลยว่าเปปทีนคืออะไร แต่..ภาพรวมของสปอทมันดู..เอ่อ ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำนี้ดีไหม ..เห่ยค่ะ (ถ้าแรงไปก็ขออภัยด้วย) นั่นคงเป็นเพราะประสบการณ์ทำงานด้านนี้ของสมาชิกในทีมมีน้อยมาก คราวนี้ พอภาพมันออกมาในลักษณะนี้ มันกลับทำให้ไม่แน่ใจว่าจะตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้ไหม? (ซึ่งถ้าทีมได้มือกราฟฟิคดีๆ หรือคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ artistic presentation น่าจะช่วยได้เยอะเลย) ส่วนในเรื่องของแผนการตลาด ก็เหมือนทีมที่ 1 คือ ทีมตัดต่อไม่ได้แสดงให้ดู แต่รับรู้ได้จากเสียงกรรมการว่า ไม่ประสานกันดีเท่าไร…
ตอนที่เข้าห้องประชุมตัดสินทีมที่ชนะ ก็หวั่นๆ อยู่ว่า ทีมที่ 1 อาจจะแพ้ เพราะตัวสปอทโฆษณาไม่ตอบโจทย์ดีเท่าทีมที่ 2 แต่เพราะการทำงานประสานกันในทีมดี มีทิศทางชัดเจน ก็เลยทำให้ทีมที่ 1 ชนะได้
(ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าทีมที่ 1 แพ้.. คนที่โดนโหวตออกน่าจะเป็นใคร? เราเดาว่าทุกคนก็คงยอมรับความผิดพลาดของตัวเองที่ร่วมกันตอบโจทย์ผิด แต่ถ้าบังคับให้ต้องโหวตออก 2 คนที่จะโดนคงเป็นเจ้าของไอเดีย และ หัวหน้าทีมที่เป็นจุดเริ่มของการกำหนดทิศทางล่ะมั้ง)
ส่วนทีมที่ 2 ก็ตามคาดเลยว่า ลูกทีมต้องโหวตหัวหน้าออกแน่ๆ ก็หวั่นๆ ว่ากรรมการจะเออออไปด้วย แต่กรรมการครั้งนี้สุดยอดมากๆ ที่ถามถึงเหตุผลที่เลือกน้ำหวานมาเป็นหัวหน้าของแต่ละคน และทำให้รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับทีม
ที่จริงการที่น้ำหวานขันอาสามาเป็นหัวหน้า จัดว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยในตัวน้ำหวานเอง เพราะถ้าพลาด ทีมไม่ชนะ เธอก็คือคนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุด
..ขอพาดพิงรายการ The Apprentice หน่อยนะคะ มีตอนหนึ่งที่ Donald Trump พูดถึงการเลือกหรือขันอาสาเป็น project leader ว่า เป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด และเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อผลแพ้ชนะของทีมมากที่สุด เพราะฉะนั้นเพื่อกระตุ้นความกระตือรือร้นอยากขึ้นเป็นผู้นำ เขาก็เลยให้รางวัล project leader ของทีมที่ชนะว่า ได้รับสิทธิละเว้นการโดนไล่ออกในสัปดาห์ถัดไป (แต่ใช้ได้แค่ถึงรอบ 4 คนสุดท้ายนะ)..
ทีนี้การที่น้ำหวานขันอาสาเป็นหัวหน้า และยอมรับความเสี่ยงนี้เนี่ย เราถือว่าเป็นคนที่มีความเสียสละต่อทีมในระดับหนึ่ง แต่ทว่า ลูกทีมกลับไม่ได้มีความรู้สึกซาบซึ้งหรือให้ความเคารพในตัวหัวหน้าสักเท่าไร และก็เป็นอย่างที่คุณนันบอกน่ะค่ะว่า ต่างก็เชื่อมั่นในตัวเองมากว่า ตัวเองจะทำได้ดีกว่า แทนที่จะเกิดการสนับสนุนกัน กลับการเป็นการข่มกันไปแทน ทำให้การทำงานประสานของทีมไม่ลื่นไหลเท่าไร
เท่าที่ดู เหมือนน้ำหวานจะรู้ในจุดนี้ และพยายามที่จะเรียนรู้งานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทีมให้ไวที่สุด แต่ยิ่งเรียนรู้กลับยิ่งถูกลูกทีมมองว่าอ่อนหัด และเหนื่อยใจกับการต้องมาอธิบายสารพัดซ้ำซาก
เราว่าน้ำหวานอาจจะพลาด ที่รับโปรเจคที่ใหญ่เกินตัว และตัวเองไม่ถนัด แต่ลูกทีมก็พลาดในแง่ไม่ให้โอกาสคน และแง่ทรยศต่อความคิดตัวเอง ในเมื่อตัวเองยอมรับเขาให้เป็นหัวหน้าทีม แต่การกระทำต่อหัวหน้ากลับไปทิศตรงกันข้าม.. เหมือนถอดใจแพ้แต่ต้น และเตรียมโยนความผิดทุกอย่างให้หัวหน้าเลย
งานนี้กรรมการทำหน้าที่โดนใจมากๆ ที่ค้นหาจุดผิดพลาดของทีมเจอ โดนใจเลยค่ะ “เคยได้ยินไหมว่า Put the right man to the right job”
ส่วนที่ตี้โดนออก ยอมรับจริงๆ ว่าตอนแรกก็ตกใจที่คนไปเป็นตี้ แต่เขาก็ตอบแบบไม่คิด และเหตุผลที่เขาให้กับกรรมการเนี่ย มันดูอ่อนด้อยเหลือเกิน อารมณ์เหมือนคนที่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนั้น อารมณ์ชั่ววูบก็ทำให้เกิดหายนะได้..
โจทย์ครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับทุกๆ คนเลย ไม่ว่าจะทำงานอะไรด้านไหนก็ตาม การขึ้นเป็นผู้นำ การยอมรับตัวผู้นำ การเป็นลูกทีมที่ดี และการตัดสินใจใจการใช้คำพูด… เกมกลยุทธ์สัปดาห์ที่ 5 นี่ทำได้โดนเต็มๆ เลยเค่ะ
ป.ล. รางวัลทำผมรอบนี้น่ะ.. คือ.. ผิดหวังนะ เห็นทำออกมาดีขึ้นคือเอก กับนุ้ย ส่วนที่เหลือเนี่ย..
-__-‘