หลักวิชา จักร ๗ ดาว

๑.

วิชานี้ เป็นเรื่องแปลกที่มีการตัดเวลา ๑๘ นาที สำหรับ การผูกดวงที่กทม.
(ยึดเอาตำแหน่งที่อยู่ของเราเป็นสำคัญ ไม่ใช่คนถาม)
ดังนั้น เขาจะอยู่สุไหงโกลก แต่เราอยู่กทม. จะแชทคุยกันยังไง
ถ้าตั้งดวงให้เขา ก็ต้องลบ ๑๘ นาทีก่อน
(ถ้าท่านอยู่กทม.นะครับ)

หากอยู่ตจว. ใช้เวลานั้น ๆ ได้เลย

๒.

วิธีใช้ สมมติมีคนโทรฯหาเพื่อถามอะไรสักเรื่องนึง
ท่านดู “จุดเวลา” ทันที ถ้าท่านอยู่กทม.ให้ลบ ๑๘ นาทีก่อนให้เรียบร้อย

จากนั้น จับยามครับ
จับยามอัฐกาลธรรมดานี่แหละ

ถ้าไม่คล่อง คลิก ตำรายามอัฐกาล เอาครับ แต่ควรจะท่องให้ได้ ไม่ยากหรอกครับ

๓ .

ท่านตั้งจักรราศี เหน่ง ๆ ขึ้นมาวงหนึ่ง
ถ้าไม่คล่องรบกวนลงดาวเกษตร ประจำราศีให้เรียบร้อยนะครับ ถ้าคล่องแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหา

จักรราศีจักรราศีที่ว่านี้ ให้ใช้ดาวเสาร์ เป็นเกษตรที่ราศีกุมภ์แทนราหูนะครับ

เพราะว่า เราจะเอามาทำเป็นเลข ๗ ตัว
จากนั้น ท่านต้องมองนิดนึง ว่าเวลานั้น กลางวัน หรือกลางคืน
ยึดหกโมงเช้า หกโมงเย็นเป็นหลักนะครับ

กลางวัน หกโมงเช้า ถึงหกโมงเย็น
กลางคืน หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า

เหตุที่ต้องมองตรงนี้ เพราะจักรราศีนั้น
เขาจะมีดาวเจ้าเรือนเกษตรส่วนใหญ่ อยู่สองตำแหน่ง

จับยามกลางวัน ใช้ราศีภาคกลางคืน
จับยามกลางคืน ใช้ราศีภาคกลางวัน

เว้นแต่ยามเสาร์นะครับ ใช้ มังกรตอนกลางวัน กุมภ์ตอนกลางคืน
(อย่าเพิ่งงงครับ แต่เท่าที่ผมทดสอบมา ได้อย่างนี้ ต้องรบกวนทุกท่านช่วยทดสอบต่อ)

จำแค่นี้คงไม่ยากใช่ไหมครับ
จับยามกลางวัน ใช้ราศีภาคกลางคืน
จับยามกลางคืน ใช้ราศีภาคกลางวัน

ยกเว้น ยามเสาร์ ใช้มังกร ตอนกลางวัน ใช้กุมภ์ตอนกลางคืน

๔.

หาอัตตะ
ด้วยการแบ่งช่วงยามนั้น ๆ ออกเป็นสามส่วน ส่วนละครึ่งชม. เป็น
-ต้นยาม
-กลางยาม
-ปลายยาม

สมมติว่า เวลา ที่มีคนถามคือเวลา ๑๑.๔๔น. ที่นนทบุรี วันพุธ
นับยามได้ ยามพฤหัส แต่เป็นปลายยาม

เราหาอัตตะ ด้วย ตรียางค์ ครับ
ตรียางค์คือแบ่งสามส่วน ใช้ราศีที่เป็นธาตุเดียวกัน
ต้นยาม ใช้ดาวเกษตรตรียางค์แรก
กลางยาม ใช้ดาวเกษตรตรียางค์ที่สอง
ปลายยามใช้ดาวเกษตร ตรียางค์ที่สาม

ในกรณีตัวอย่างข้างบนนี้
ใช้ยามพฤหัส ตรียางค์ที่สาม
แต่ต้องนับจากพฤหัสราศีมีน

เพราะเป็นช่วงกลางวัน เลยต้องใช้ราศีภาคกลางคืน
แต่หากจับยามใสช่วงกลางคืน ท่านต้องเริ่มนับจากพฤหัสราศีธนูที่เป็นราศีภาคกลางวันนะครับ

ตรียางค์ที่สามของพฤหัสราศีมีน
คือ ราศี พิจิก

ท่านใช้ ดาวเกษตรของราศีพิจิก คือ ๓ เป็นอัตตะ

๕.

หาตนุ
ตรงนี้สำคัญ อ่านช้า ๆ ครับ

ท่านต้องมองว่า เวลาที่เราจับได้นั้น ผ่านยามต้น ยามกลาง หรือยามปลาย มากี่นาที

ในที่นี้ ตัวอย่าง เราให้ เวลา ๑๑.๔๔ นาที
ผ่านยามปลายมา ๑๔ นาทีแล้ว

เรานับจากราศียามที่เราจับได้
(ในที่นี้ คือราศีมีน ยามพฤหัส กลางวัน) ไปช่องละ ๓ นาที ๒๐ วินาทีครับ
จนถึง ๑๔ นาที และนับแบบอุตราวรรษ(เวียนซ้าย)นะครับ เหมือนการโคจรของดาวธรรมดาทั่วไป

อ่านช้า ๆ อีกครั้ง แล้วเดี๋ยวนับตามนะครับ
เอาล่ะ สมมติว่า อ่านจบแล้ว

เรามานับกัน นับจากราศีมีน
๓ นาที ๒๐ วินาที พ้นไปแล้ว

เข้าราศีเมษ
๓ นาที ๒๐ วินาที รวมเป็น ๖ นาที ๔๐ วินาที

ไปที่ราศีพฤษภ อีก ๓ นาที ๒๐ วินาที รวมเป็น ๑๐ นาที (นับง่าย ๆ สามช่องสิบนาทีครับ)

ราศีเมถุนอีก ๓ นาที ๒๐ วินาที
รวมเป็น ๑๓ นาที ๒๐ วินาที

และท้ายสุด เวลา ๑๔ นาที
ที่เราต้องการจะไปอยู่ในข่ายของราศีกรกฎ ครับ

ได้ตำแหน่งแล้ว คือ ราศีกรกฎ
เราเอาดาวเกษตรของราศีกรกฎ คือ ๒ มาตั้งเป็นตนุ

๖.

หามรณะ
ตรงนี้ ก็ต้องอ่านช้า ๆ นะครับ

หลักการคล้ายกับตนุ
ตรงที่เราต้องหาก่อนว่า ช่วงเวลาที่เราประสงค์
ผ่านต้นยาม กลางยาม ปลายยาม มากี่นาที

ซึ่งตรงนี้ เช่นเดียวกันกับตอนหาตนุ
คือ ผ่านมา ๑๔ นาที

ให้เริ่มต้นนับ จากราศีที่เราเอามาเป็นอัตตะ
คือ ราศีพิจิก หรือราศีที่ตรียางค์ตกนั่นแหละเป็นต้นนับ

หามรณะนับจากอัตตะไปและนับไปเรื่อย ๆ
ช่องละ ๒ นาที ๓๐ วินาที
นับแบบเวียนซ้ายเหมือนนับตนุครับ

เวลานับ นับง่าย ๆ ครับ สองราศี ๕ นาที

เริ่มที่พิจิก ธนู ห้านาที

มังกร กุมภ์
อีกห้านาที รวมเป็นสิบนาที

มีน เมษ รวมได้สิบห้านาที

สรุปคือ ช่วงเวลา ๑๔ นาที
เรานับตกในข่ายเวลาที่ราศีเมษครับ

เอา ๓ ที่เป็นเกษตรราศีเมษมาใช้เป็นมรณะ

เพราะฉะนั้นเราจะได้ดวง ๓ ๒ ๓ ครับ

ที่มา
ท่านถั่วงอกเรียกอาจารย์ – คิดค้น
เก้ากระบี่เดียวดาย -เรียบเรียงบันทึก
เผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ ห้ามผู้ใดแอบอ้างเป็นเจ้าของ