เข้ามาฟังเรื่องสนทนาธรรมกันครับ
พอดีวันนี้ได้ฟัง 2 -3 กลุ่ม คุยกันเรื่องสายปฏิบัติใครดีกว่า
ผมฟังก็เห็นว่ายังมีคนที่ยึดติดแบบฉบับอยู่มาก
เรื่องปฏิบัติธรรมนั้น ถ้ากำลังปฏิบัติอยู่คนละสาย จะพูดยาก
แต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เท่ากัน และเมื่อมีที่มาต่างกัน อยู่ดีดีเอามาอธิบายจะไม่เข้าหัว
ในดั้งเดิมไม่มีสายไหนสายไหน
มีกรรมฐานสี่สิบกองเป็นฐานที่ตั้ง
ทั้งสี่สิบกองนี้ มีไว้สำหรับการแก้ทางจริตของผู้ปฏิบัติ
ก่อนน้อมเข้าวิปัสสนา
เดิมของผมสอนมากันแบบนี้
ใครมีกิเลสชนิดไหนมาก ให้แก้ด้วยกรรมฐานกองที่คลี่คลายกิเลสกองนั้น
เช่น อสุภะ ไว้สำหรับแก้จริตคนที่ติดในกามสูง ยึดติดเห็นรูปลักษณ์สวยงาม เกิดความพึงใจ
ติดในรูปรส ก็แก้ทางจิตดั้งเดิม โดยไปเพ่งอสุภะ จนเกิดเห็นความเสื่อมไปของรูปกาย ความไม่เที่ยง ความไม่จีรัง
เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูป เห็นว่าความสวยงามตั้งอยู่ไม่นานก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา
ต่อจากนั้น พระอาจารย์จะสอนให้น้อมมาฝึกกายานุปัสสนา เอากรรมฐานที่ฝึกอสุภะนั้นมาต่อยอด
ให้พิจารณาเห็นรูปนาม เห็นรูป เห็นนาม ไม่เป็นตัวตน ไม่เป็นเจ้าของ ไม่ยึดติดรูปนามนั้นอีก
อสุภะ นั้นฝึกยาก แต่มีคุณต่อวิปัสสนาเบื้องต้นในหัวข้อกายานุปัสสนาสูง ไม่ยึดติดรูปกาย
เมื่อใดที่น้อมพิจารณาเห็นรูปเห็นนามเมื่อไหร่ มักจะผัวะเลยทีเดียว พิจารณาต่อ เห็นถึงไตรลักษณ์
ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เห็นความเกิดขึ้น เสื่อมลง ดับไป ขึ้นมากระจ่างจะจะทั้งสองตาเนื้อ
โลกธาตุสว่างไสวไปหมด
สมัยนี้มีไม่มากที่กล้าฝึก เพราะถ้าสติไม่มี ไม่แน่วแน่จะน้อมมาในธรรมะจริงๆ มักจะฟุ้งซ่าน
พระท่านไม่รู้จักพื้นนิสัยจริตผู้ฝึกว่าแน่วแน่จริง จะไม่แนะนำเลยสำหรับญาติโยม
ยกเว้นพระโยคาวจรที่ตั้งใจแน่วแน่แล้ว เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวจริง ย่อมเป็นเรื่องปกติ
กสิน นั้นไว้สำหรับ จริตของคนที่ติดโมหะสูง เป็นตัวแก้ทางกัน
บางคนได้ยินแบบนี้แล้วรู้สึกว่าดูถูกก็เปล่า
เพราะตนเองสร้างฐานสั่งสมมาตั้งแต่อดีตนั้น ปัจจุบันจึงฝึกต่อก็มี
ฟังแบบนี้แล้วจะได้ไม่เสียอีโก้
สายกสินนั้นจะสังเกตว่าเป็นผู้มีทิฐิมานะสูง แรงใจสูง
จึงต้องใช้กุสโลบายน้อมอารมณ์ทะยานอยากนั้นมาบีบให้มันนิ่ง
การเพ่งกสิณนั้นเปรียบเป็นการรวมกำลังของจิตให้นิ่ง
เสมือนเลนส์รวมแสงที่จะต้องอยู๋นิ่งและพอดิบพอดี จิตจึงจะเกิดกำลัง
ทางนี้ ชำนิชำนาญแล้วก็เอามาประยุกต์เล่นได้ เป็นประโยชน์บ้างไม่เป็นประโยชน์บ้างตามกิเลสผู้ฝึก
สำรวมจิตนิ่งจนชำนาญเกิดกำลังก็มีฤทธ์ทางโลกบางประการ ไม่ระวังให้ดีก็หลง
ใครปฏิบัติสายนี้และผ่านช่วงหลงเล่น หลงเพลินคงจะทราบดี
แต่ยังไม่พอ ใครพอใจเท่านี้เรียกว่าหลง มีฤทธิ์ไม่ต่างโยคี เสื่อมได้
และเพราะกรรมฐานที่ฝึกมานี้ ท่านให้น้อมมาใช้ในวิปัสสนา
ใช้ให้มีสติแรงกล้า นิ่งแน่วในการพิจารณาธรรม ไม่สั่นไหว ไม่คลอนแคลน
สตินิ่งดั่งคมเข็ม จี้ชี้ชัดพิจารณาละเอียดเห็นธรรม และมีกำลังฌาณ
รักษาสตินิ่งพิจารณาเห็นธรรมอยู่ได้จนสำเร็จ เมื่อสำเร็จมีกำลังสูง
กสิณฝึกได้แล้วน้อมมาใช้ในวิปัสสนาญาณให้คุณสูงตรงนี้
กำลังสูงเหมือนรถเฟอรารี่เครื่องแรง ตั้งถูกทาง วิ่งถูกถนนไปฉิวๆ
(แต่ถ้าขับผิดทางก็เข้ารกเข้าพงกันไปไกล)
ถามว่าแบบไหนดีที่สุด ตอบแบบเอาใจก็ต้องแบบที่ท่านกำลังฝึกนั่นแหละ ดีที่สุด
แต่ถ้าตอบตามตรง ไม่มีดีที่สุด มันขึ้นอยู่กับจริตผู้ฝึกนู่น แต่ละคนมีจริตไม่เท่ากัน
และก็อยู่ที่อาจารย์ที่สั่งสอน เห็นควรว่าศิษย์ควรจะฝึกอะไร
ให้สามารถผ่านด่านจริตส่วนตัวจนลุล่วงเห็นธรรมได้
ส่วนดีที่สุดของทุกกองกรรมฐาน
คือแบบไหนที่แก้ทางจริตของผู้ฝึกนั้นๆให้คลี่คลายเกิดวิปัสสนาญาณได้ดวงตาเห็นธรรม
อย่าให้วนเวียนติดอยู่ในคำสมมุติว่าแบบไหนๆ แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น
แบบนั้นเป็นใช้ได้ เป็นดีที่สุดของผู้นั้น
สำหรับวิปัสสนาที่อาจารย์สอนสำหรับฆราวาส
ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องสำคัญคือ การสร้างสติขณะปฏิบัติธรรม
เพื่อให้จิตมีกำลังในการปฏฺบัติมากพอที่จะน้อมไปพิจารณาธรรมได้
ยุบหนอ พองหนอ เหยียบ ยกย่าง หรือ พุทโธ หรือสัมมาอะระหัง มีเป็นตัวตั้งให้ สติกำกับอยู่
รู้ทุกขณะ เข้ารู้เข้า ออกรู้ออก เหยียบ ยก ย่าง จงกรม หรือนั่ง หรือทำอะไร เป็นผู้มีสติชัด
กลุ่มนี้ไปช้า มุ่งตรงทีเดียว แต่เวลาเจอด่านสำคัญๆต้องมีความพยายามมากหน่อย
ต้องกำกับสติอยู่หมัดจริงๆ จึงจะรู้ทันจิตในขณะนั้น
สติชัดแล้วจะกำกับได้ไม่หลงทาง นิมิตมาก็รู้ทัน ถีนมิททะมาก็รู้ทัน ผ่านด่านอุปสรรคธรรมต่างๆ เช่น นิวรณ์ลุล่วงได้
ถึงจะพิจารณาธรรมได้
นั่งๆแล้วเมื่อยทนไม่ไหว นั่งๆแล้วง่วงจะหลับ เป็นเพราะสติเอาไม่อยู่ กำลังยังน้อย ก็ค่อยๆฝึกไป
วิปัสสนาไม่มีกำลังจิตนิ่งเสียเลยก็ไปได้ยาก ต้องมีบ้างในระดับหนึ่ง
ทีนี้ หลวงพ่อท่านก็ประยุกต์กรรมฐานกองใดกองหนึ่งมาใช้โดยไม่ต้องอธิบาย
อธิบายมากแล้วบางคนก็ไปยึดติดรายละเอียดอีก ไม่ใช่เรื่องต้องนึกถึง
เป็นวิธีที่ประยุกต์มุ่งให้เข้าถึงการปฏิบัติวิปัสสนาโดยรวบยอด
มุ่งเป้าสู่การปฏิบัติธรรมโดยตรง
สำหรับพวกที่ฝึกกสิณมาแล้ว
ด่านพวกนี้เฉยๆ ผ่านได้ง่ายๆ เป็นต้น
ถามว่าดีไหม ดีทั้งนั้น
กรรมฐานทั้ง 40 กองนี้ถ้าเคยฝึกมาแล้ว
หรือคิดจะทำก็ถือว่าดี มีผลขัดเกลาให้เกิดความพร้อมในวิปัสสนาต่อทั้งนั้น
แต่ต้องฝึกทุกกองไหม ก็บอกแล้วว่าเป็นไปตามจริตของผู้ฝึก
กรรมฐานแต่ละกองมีไว้แก้ทางกัน และให้ผลแต่ละลำดับไม่เท่ากัน
กรรมฐาน กองที่ให้อานิสงส์มาก อย่าง อาปานสติ หรือ มรณานุสติ
พระพุทธเจ้าท่านยกย่องไว้ให้พุทธสาวกหมั่นพิจารณาด้วยพระองค์เอง
ดังนั้นจะสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้ว
สำหรับฆราวาส พระท่านจึงนิยมสอนอาปานสติเป็นหลัก รู้ลมหายใจเข้าออก มีสติทุกขณะ
อาปานสติเป็นคุณต่อวิปัสสนามาก
(แต่เป็นอุปสรรค สำหรับสายฌาณ 4 บ้าง
เพราะในฌาณ 4 ณ จุดหนึ่งๆ จะพิจารณาลมหายใจได้ยาก ละเอียดเสมือนไม่มี
คนที่ไม่ได้ฝึกทางนี้จะต้องถอยกลับมาที่จุดที่รู้สึกถึงลมหายใจในที่สุด)
สำหรับสายพุทธศาสนา อาปานสติก็เพียงพอแล้ว
เพราะขอให้รักษาจิตให้นิ่งได้ ไม่ต้องมาคำนึงว่านั่น คือ ฌาณไหน
ก็สามารถใช้น้อมมาตั้งพิจารณาวิปัสสนาญานได้จนครบถ้วน
(พระท่านมักไม่ค่อยเอ่ยถึงให้เสียเวลา เกรงญาติโยมจะไปยึดติดฌาณเปล่าๆ
พอคิด เอ..ถึงหรือยังน้อ เป็นอันเสียเรื่อง)
สำหรับผู้ที่ฝึกอาปานสติจนชำนิชำนาญแล้ว ฝึกวิปัสนาญาณได้แล้ว เข้าใจว่าวิปัสสนา คืออะไร
ยามว่างๆ ในชีวิตปกติหลายท่านๆก็นิยมน้อมมรณานุสติมากำกับ
ถึงพร้อมความไม่ประมาท เป็นสติกำกับชั้นยิ่งยวด ที่ระมัดระวังทุกวินาที
ถามว่ามีประโยชน์อันใด
มีประโยชน์ คือ ธรรมที่ปฏิบัติได้แล้วนั้น แม้วินาทีสุดท้ายของชีวิตก็จะรักษาไว้ได้
เป็นประโยชน์ยิ่งยวดต่อชาติภพต่อไปหากยังไม่บรรลุถึงโสดา อนาคมมี สกิทา อรหันตื ก็ยังพึ่งได้
บางคนปฏิบัติมาดี วินาทีที่เสียชีวิตไม่ได้รักษาาสมาธิอยู่ก็จะเสียดายโอกาส เป็นไปตามคติกรรมที่ตนระลึกได้ขณะนั้นไป เป็นต้น
ทิ้งท้ายไว้ว่ากรรมฐานกองไหน วิปัสสนาสายไหนที่อาจารย์ท่านสอน เป็นเพียงกลวิธี
อย่าไปยึดติดคิดว่าสายไหนดีสายไหนถูกต้อง เพราะไม่ใช่เรื่องต้องคิด
ให้คิดแต่ว่าที่เราปฏิบัติในทางสายนี้อยู่นั้น ถูกจริตดีหรือยัง รู้จักสอบทานตัวเอง
จะได้เกิดความก้าวหน้า
ตอนนี้ปฏิบัติทางไหนก็หมั่นฝึกทางนั้นให้ดีกันเถิดครับ ให้เป็นที่พึ่งได้ก่อนวันที่เราต้องไปก็เป็นใช้ได้แล้ว
เจริญในธรรมครับ