ทำอย่างไรถ้าคุณถูกด่า แล้วถ้าคุณไม่รับมันจะเป็นของใคร
เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งด่าว่าพระพุทธเจ้าอย่างหยาบคาย รุนแรง
พระพุทธเจ้ารับฟังด้วยอาการสงบ ไม่โต้ตอบเลยแม้สักคำเดียว จนพราหมณ์ด่าว่าจบ(ไม่รู้ว่าเพราะจบหมดแรงซะก่อนหรือเปล่า) แล้วพระพุทธเจ้าจึงกล่าวถามพราหมณ์ให้ได้คิดว่า
“พราหมณ์ ถ้ามีแขกมาบ้านท่าน ท่านก็ต้อนรับด้วยอาหารคาว-หวาน แต่แขกที่มานั้นไม่กินอาหารที่ท่านนำมาต้อนรับเลย แล้วกลับไป อาหารนั้นจะเป็นของใคร”
พราหมณ์ตอบว่า “ก็เป็นของข้าผู้เป็นเจ้าของบ้านน่ะซิ”
พระพุทธเจ้าจึงบอกแก่พราหมณ์ว่า “ก็เหมือนกันพราหมณ์ สิ่งที่ท่านต้อนรับเราด้วยคำด่าว่าทั้งหลายนี้ เราไม่ขอรับ”
พราหมณ์เกิดสำนึกผิด ที่กล่าวด่าว่าต่อผู้ที่มีคุณธรรมสูง ควรที่จะให้ความเคารพนับถือ จึงก้มลงกราบพระพุทธเจ้าอย่างนอบน้อม
คำด่า ดีอย่างไร สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม และมีโยโสมนสิการ
1. ทดสอบตนเอง
พิจารณาดูว่า ขณะเราถูกด่า เกิดการกระทบ เรายังมีอาสวะคือ ความโกรธ หรือไม่
บางคนหลงคิดว่าเราไปถึงขั้นไหนๆแล้ว
นั่งสมาธินิ่งจิตสงบเหลือเกิน
นึกว่าตนเอง ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ
เจอคนด่าปัง เกิดโมโหขึ้นมาปั๊บ
แสดงว่า ยังต้องปรับปรุง
พิจารณารู้ตัวว่าตนมีอาการอย่างไร โมโหอย่างไร
เริ่มโมโหตรงไหน และตรงไหนที่ทำให้อารมณ์ตนเองคุคั่งไม่เลิก
หรือถ้าตั้งสตินึกได้เร็ว หรือเห็นแล้วว่าลดทอนเบากว่าเดิม
ก็ถือเสียว่าก้าวหน้าขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องปรับปรุงต่อไป
2. พิจารณาตนเอง
ได้ถือโอกาสตรวจดูว่า เรามีพฤติกรรมอะไรควรปรับปรุง
มีอาการอย่างไรจากการบริภาษ เหล่านั้น
บางอย่างในยามปกติเราไม่เคยมีอาการ
แต่พอมีอะไรสะกิดให้อารมณ์ฟุ้งขึ้นมาได้
เราก็ได้เห็นตัวเรา ธรรมชาติของตัวเรามากขึ้น
ยิ่งสังเกตมากยิ่งรู้จักตัวเองตามสภาพความเป็นจริง
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางธรรม
ได้รู้ว่าละอะไรได้บ้าง ละอะไรไม่ได้บ้าง
3. รู้ผู้อื่น
พิจารณาที่เขา บริภาษ เราอยู่นั้น จะได้เห็นว่าเขามีภูมิจิตภูมิธรรมอย่างไร
ยิ่งพิจารณาให้ดีจะมีประโยชน์ยิ่ง
บางครั้งถ้าตั้งจิตพิจารณาดีดีจะรู้สึกสงสารเขา
คนเราบางทีมีโอกาสไม่เท่ากัน ยิ่งเห็นภูมิจิตภูมิธรรมของคน
จะยิ่งรู้สึกว่าเราโชคดีนักที่ได้พิจารณาเห็นธรรมที่เขาไม่เห็น
ยิ่งสังเวชโลก ยิ่งตั้งใจปฏิบัติธรรม
4. มีพุทธพจน์ ทรงตรัสสอนไว้ว่า..
น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ
อานนท์ เราจักไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
ยถา กุมฺภกาโร อามเก อามกมตฺเต
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่
นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกขามิ
อานนท์ เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด
ปวยฺหปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
โย สาโร, โส ฐสฺสติ
ผู้ใดมีมรรคผลแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้ (ม. อุ. 14/356)
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าว
คำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์,
ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย
เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย. (ขุ. ธ. 25/16 )
5.
อย่าลืมน้อมตัวอย่างของพระพุทธเจ้า ที่นำมากล่าวข้างต้นนะครับ
แล้วหลังจากนี้ เราจะฟังคำด่าด้วยโยนิโสมนสิการ และรู้สึกเหมือนเข้าสนามทดสอบรถฟอร์มูล่าวัน
ทุกคนที่ด่าเรา เท่ากับมาเป็นบททดสอบปัญญาวิมุตติของเรา คิดแบบนี้ก็คิดไปอีกชั้น
พัฒนาการวุฒิภาวะทางสติและปัญญาไปอีกขั้น
เจริญในธรรมครับ