ผมมีภาพๆหนึ่งเอามาให้ดูกัน
เป็นภาพหลอดยาสีฟันที่ถูกใช้แล้วครับ เห็นทีแรกไกลๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรมากหรอกครับ เป็นภาพที่ติดอยู่บนบอร์ดที่โรงเรียนของลูก ระหว่างที่ยืนรอลูกๆ ลงมาจากห้องเรียนจึงได้อ่านข้อความที่ประกอบภาพนี้อย่างละเอียด
ภาพหลอดยาสีฟันที่เห็นนี้ต้องเรียกว่าเป็นหลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์ เพราะนี่คือหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วรู้สึกเหมือนผมไหมครับความฉ่ำเย็นจากที่ไหนก็ไม่รู้อาบลงมากลางกระหม่อมเลย ภาพนี้ถูกตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ครูที่โรงเรียนของลูกผมไปพบเข้าเลยนำมาถ่ายสำเนาติดบอร์ดให้เด็กนักเรียนได้ เรียนรู้และเข้าใจคำว่า “ประหยัด” ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า
“ครั้งหนึ่งทันตแพทย์ประจำพระองค์กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนมีค่านิยมในการใช้ของต่างประเทศและมีราคาแพง รายที่ไม่มีทรัพย์พอซื้อหาก็ยังขวนขวายเช่ามาใช้เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบมามีความแตกต่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าที่ผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม แม้จนยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่านก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบน จนแน่ใจว่าไม่มียาสีพระทนต์หลงเหลืออยู่ในหลอดจริงๆ
เมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน และยังทรงรับสั่งต่อไปด้วยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้เองมหาดเล็กห้องสรงเห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน จะเห็นได้ว่าในส่วนของพระองค์ท่านเองนั้นทรงประหยัดอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิจ
พระจริยาวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึง พระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า หลังจากนั้น ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทาน หลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้นเพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่าง เพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อๆ ไป
ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน ส่งหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ถึงบ้านทันตแพทย์ประจำพระองค์รู้สึกซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้ายิ่งเมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนราบเรียบโดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษโดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกครั้งในเวลาต่อมาจึงได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้นเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกด จนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเองและเพื่อที่จะขอนำไปแสดงให้ศิษย์ทันตแพทย์ได้เห็น เป็นอุทาหรณ์จึงได้ขอพระราชาอนุญาตซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงพระเมตตาด้วยความเต็มพระทัย”
ผมมีโอกาสได้ยืนมองดูรูปหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้อยู่เนืองๆ เวลาไปรอรับลูกที่โรงเรียนและเมื่อยิ่งดูก็ยิ่งได้รับรู้ถึงปรัชญาที่พระองค์ พระราชทานผ่านมาทางหลอดยาฯนี้แล้วผมก็พบว่าแก่นแท้ของการประหยัดมันอยู่ตรงนี้นี่เอง ไม่ใช่ไม่ยอมใช้เลย แต่ต้องรู้จักใช้ และต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช้แบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง
ตัดตอนจากคอลัมภ์คุยกับประภาส หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประวัติศาสตร์ โดย ประภาส ชลศรานนท์