“หลักเขตที่ 28-29 ของกทม. ตอนนี้ย้ายสำมะโนครัวไปลอยเด่นอยู่กลางอ่าวมาหลายปีแล้ว ชนิดที่ฝรั่งมาเห็นก็ยังงง คิดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทย จนผมว่าน่าจะจัดเป็นแหล่งเที่ยวแห่งใหม่ของบางขุนเทียนซะเลย ต่อไปถ้าใครจะมาเยี่ยมชมก็ให้เอาพวงมาลัยมาไหว้ด้วย”
ปัญญา ช้างเจริญ อดีตผู้ใหญ่บ้านและกำนันเขตบางขุนเทียน พูดพลางชี้ให้ดูเสาหลักเขต กทม. ที่บัดนี้ถูกยกขึ้นสูงเหนือน้ำ พร้อมบอกว่า หลักเขตต้นนี้เคยอยู่บนบก แต่หลังจากถูกคลื่นกัดเซาะนานวันเข้า ทำให้แผ่นดินหายไปกว่า 1 กิโลเมตร เสาหลักเขตจึงลงมาอยู่ในทะเล เช่นเดียวกับชาวบางขุนเทียน ที่ต้องเผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่งที่รุกคืบเข้าถึงบ้านเรือนที่เคยสร้างอยู่บนบก แต่ในช่วง 30 ปีมานี้ น้ำทะเลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตทำให้ชาวแผ่นดิน ต้องกลายเป็นชาวน้ำแบบจำยอม ไม่เพียงแค่ชายฝั่งบางขุนเทียน ของ กทม.ที่เจอกับธรรมชาติเล่นงาน แต่ชาวบ้านโคกขาม และชาวบ้านพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ก็ประจักษ์แล้วว่าพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่เคยเป็นปราการป้องกันคลื่นลม และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำตลอดความยาว 41 กิโลเมตรของสมุทรสาคร ตอนนี้ถูกธรรมชาติรุกรานจนส่งผลให้แผ่นดินหายไปกว่าปีละ 1-5 เมตร และส่งผลให้บัดนี้เหลือป่าอยู่ไม่ถึง 10,000 ไร่ เท่านั้น !!
“ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2517 ชี้ให้เห็นแนวป่าชายเลนสมบูรณ์กว่า 1 แสนไร่ แต่ผ่านมาแค่ 22 ปี ป่าเหลือเพียงเส้นบางๆ ตามแนวขอบ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านครอบครองป่าชายเลนในแถบสมุทรสาคร เพื่อนำไปทำนากุ้ง นาเกลือ จนดินเสื่อมโทรม ป่าหายไปหมด และยังมีชุมชนที่ปล่อยน้ำเสียลงมาทะเล ทำให้ ระบบนิเวศน์เสียหาย ชาวบ้านจับสัตว์น้ำได้น้อยลง”
ลุงนรินทร์ บุญร่วม อดีตเลขาธิการสมาคมด้านการประมงสมุทรสาคร ที่พลิกชีวิตมาทำหน้าที่แกนนำชาวบ้านนำร่องใช้ธรรมชาติสู้ธรรมชาติ สรุปถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมว่าจากวิกฤติที่ชาวบ้านกำลังเผชิญหน้าอยู่นี้เอง ชาวบ้านหมู่ 3 และ 8 ต.โคกขาม หมู่ 8 ต.พันท้ายนรสิงห์ และหมู่ 2 ต.บางหญ้าแพรก และโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์ จึงร่วมกันคิดหาทางออกและวิธีเยียวยาธรรมชาติขึ้น ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติมหาชัยฝั่งตะวันออก ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อสรุปคือ ชาวบ้านจะร่วมกันต่อสู้โดยเอาแรงกายแรงใจเป็นเดิมพัน และเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การได้แผ่นดินงอกกลับมา เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และจัดสรรพื้นที่เป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ทะเล และการทำความเข้าใจเรื่องการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย
ขั้นตอนและวิธีการทำงานนั้น สมชาย ดวงล้อมจันทร์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์โคกขาม-พันท้ายนรสิงห์ บอกว่า วันหนึ่งเขาไปนั่งอยู่บนสะพานและเห็นไม้ไผ่ที่ปักอยู่ในน้ำ 1 ลำ แหวกน้ำออกเป็น 2 ข้าง จึงกลับมานั่งคิดว่าถ้าไม้ไผ่หลายลำก็น่าจะลดแรงเฉื่อยของน้ำได้ และยิ่งถ้าปักเป็นหลายๆ ชั้น นอกจากจะชะลอกระแสน้ำกว่าจะเข้าถึงฝั่งได้แล้ว ยังทำให้เลนตกตะกอนท้ายแนวไม้ ตอนนี้เมื่อเริ่มมาหลายปีโดยใช้พื้นที่หน้าบ้านของตัวเองก็พบว่านอกจากจะหยุดการกัดเซาะได้แล้ว ยังมีดินเลนงอกขึ้นมาสำหรับปลูกป่าชายเลน
“ตอนนี้เรากำลังขยายผลไปยังหน้าบ้านของชาวบ้านในอ่าวมหาชัยคนละ 5 ไร่ โดยใช้เทคนิคง่ายๆ ปักไม้ไผ่เลี้ยงหอยห่างจากฝั่ง 2 กิโลเมตร จากนั้นปักไผ่เป็นแนวสามเหลี่ยม ช่วยเบรกคลื่นก่อนถึงฝั่ง จึงต้องเลือกไม้ที่สูงเกิน 5 เมตรขึ้นไป และมีความแข็งแรงทนอยู่ในน้ำได้ 4-5 ปี ลึกเข้าไป 100 เมตรก็ปลูกป่าชายเลนเสริม ถ้าถามว่าจะได้ผลเร็วหรือช้า ตอนนี้ผมมองว่าแค่หยุดปัญหากัดเซาะไปได้ 100 เมตรก็ดีกว่าปล่อยให้ทะเลพังเข้ามาเรื่อยๆ ที่สำคัญชาวบ้านยังได้แหล่งทำมาหากินกลับมา ปู ปลาที่เคยหายไปก็เริ่มกลับมาเยอะขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ชาวบ้านต้องจดจำ”
นายสำราญ รักชาติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ไม่เพียงแค่ 2 จังหวัดของอ่าวไทยตอนในรูปตัว ก.ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง แต่ทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันก็เจอกับปัญหานี้เช่นกัน
จากการสำรวจชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจาก จ.ตราด จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส รวม 17 จังหวัด ซึ่งมีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น 1,653 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยที่พบการกัดเซาะรุนแรงทั้งสิ้น 180.9 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะ ประมาณ 56,531 ไร่
ส่วนชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงจนถึงปากแม่น้ำแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งทะเล คือ ประมาณ 35 เมตรต่อปี ชายฝั่งทะเล บริเวณนี้ถูกกัดเซาะทั้งสิ้นเป็นระยะทางยาวประมาณ 82 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไปแล้วทั้งสิ้น 18,594 ไร่ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
“ได้รับอนุมัติงบ 41 ล้านบาท ในโครงการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ร่วมกับชาวบ้านในเขต 5 จังหวัดนำร่องใช้วิธีธรรมชาติ สู้กับธรรมชาติ ด้วยการปลูกป่าชายเลน ชาวบ้านได้พยายามคิดค้นกันขึ้นมาตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การปักไม้ไผ่ลดกระแสความแรงของคลื่น และทำให้เกิดตะกอนดินเพิ่มขึ้น” รองอธิบดี กล่าว
ที่มา http://www.dmcr.go.th/modules.php?name=News&file=article&sid=257